วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีวาระรับทราบ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่3/2566 เรื่อง การพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566-2570 มีแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง ประกอบด้วย
1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2.เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3.ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้เกิดจำนวนเงินลงทุนจริงในพื้นที่ ระหว่างปี 2566-2570 เพิ่มขึ้น รวม 500,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ย 100,000 ล้านบาทต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่อีอีซี (GPCP EEC) ขยายตัวร้อยละ 6.3
แนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือ ร่างประกาศ กพอ.เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการ 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมการให้ภาครัฐ การเจรจาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และการติดตามตรวจสอบ
ทั้งนี้ ในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการ คณะกรรมกาจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ แผนการลงทุน รวมถึงระยะเวลาเริ่มการลงทุนหรือประกอบกิจการ ความสำคัญของกิจการต่อ Supply chain และ Value chain มูลค่าเงินทุนที่ใช้ประกอบกิจการ การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการ การถ่ายทอดความรู้ และการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กพอ.ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์เป็นประธานการประชุม กพอ.ครั้งที่ 4/2566 ได้มีมติเห็นชอบ "ร่างประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...." เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยใช้รูปแบบการเจรจาสิทธิประโยชน์กับนักลงทุน สาระสำคัญ ประกอบด้วย 7 หมวด ดังนี้
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการ อีอีซี เปิดเผยว่า คาดว่า เมื่อร่างประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... เข้าครม.ในวันนี้แล้ว จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม
นายจุฬากล่าวว่า จากนั้นจะเป็นกระบวนการตั้งคณะกรรมการเจรจาฯกับเอกชนแต่ละราย เพื่อเริ่มให้สิทธิประโยชน์อีอีซีแบบวันสต็อปเซอร์วิส ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะนี้มีนักลงทุนจากทั่วโลกสนใจประมาณ 30 ราย จำนวน 34 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการบีซีจี อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับ สิทธิประโยชน์อีอีซี อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด สิทธิในการประกอบวิชาชีพ สิทธิในการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ระยะยาว 50 ปี +49 ปี สิทธิในการประกอบวิชาชีพ สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักรและสิทธิในการได้รับเวิร์คเพอร์มิท สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ สิทธิในการขอรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าชายแดน หรือเขตการค้าเสรี
นายจุฬากล่าวว่า ในการเจรจานักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์แค่ไหน จะถึง 15 ปีหรือไม่ ขึ้นกับการเจรจา จากองค์ประกอบต่างๆ อาทิ มูลค่าลงทุนจริง แผนการลงทุนเข้าเกณฑ์หรือไม่ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมฯภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ความสำคัญของกิจการต่อห่วงโซ่อุปทาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจแค่ไหนอย่างไร
นายจุฬากล่าวว่า ขณะเดียวกันจะต้องดูในเรื่อง การเป็นผู้บุกเบิกกิจการในอุตสาหกรรมไทย การใช้ทรัพยากรและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในกิจการ แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนวิจัยและพัฒนา การจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง ความยั่งยืนของกิจการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน 3 จังหวัดอีอีซีด้วย
"ขณะนี้จึงเหลือเพียงสิทธิประโยชน์อีอีซีที่รอเสนอครม. หากทุกเครื่องมือพร้อมจะดึงการลงทุนได้ทันที คาดว่าเดือนมิถุนายนจะปิดดีลกับนักลงทุนทั้ง 30 รายได้ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ที่แสดงความสนใจมากที่สุด"นายจุฬากล่าว