ยอดลงทุนต่างชาติ EEC ล่าสุด 4 เดือน พุ่ง 14,033 ล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

19 พ.ค. 2567 | 00:01 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดยอดลงทุนต่างชาติในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 4 เดือน มีเงินลงทุนพุ่ง 14,033 ล้าน โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ยังเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิตินักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน) ว่า กรมฯ ได้มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว 253 ราย เกิดเงินลงทุนรวม 54,958 ล้านบาท โดยในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีทั้งหมด 77 ราย คิดเป็น 30% มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ถึง 14,033 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 77 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 34 ราย หรือเพิ่มขึ้น 79%

 

ส่วนมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 14,033 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6,512 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 87% เป็นนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ญี่ปุ่น 20 ราย เงินลงทุน 2,002 ล้านบาท 
  • จีน 14 ราย เงินลงทุน 980 ล้านบาท 
  • สิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 1,018 ล้านบาท 
  • ประเทศอื่นๆ 34 ราย เงินลงทุน 10,033 ล้านบาท  
     

สำหรับธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC มีดังนี้

1. ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคเช่น ให้คำแนะนำในการติดตั้งระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องจักร ให้คำปรึกษา และแนะนำเชิงเทคนิคเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องจากการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์

2. ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า

3. ธุรกิจบริการซ่อมแซมหินเจียร ใบหินตัด ใบเลื่อย เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบทำด้วยเพชร

4. ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปทางด้านภาพ เสียงระบบนำร่อง และชิ้นส่วน/ แม่พิมพ์  ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป/ อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์)

5. ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายและ/หรือให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพื่อรองรับการลงทุน โดยได้ต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา 

โดยเริ่มต้นจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยถูกบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางการเงิน การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลาการ การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี