KEY
POINTS
เมื่อรัฐบาลประกาศเตรียมดึง "กัญชา" กลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้งย่อมมีทั้งกลุ่มผู้ที่ "เห็นด้วย" และผู้ที่ "คัดค้าน" และ "เห็นต่าง" ทั้งจากฟากฝั่งนักวิชาการ กลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำหนังสือยื่นข้อเสนอถึงผู้ที่มีอำนาจในเรื่องนี้ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน
รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ประธานหลักสูตรกัญชาเวชศาสตร์และสมุนไพรทางการแพทย์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คือ หนึ่งในจำนวนผู้ที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการนำ "กัญชา" กลับมาเป็น "ยาเสพติด" ถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์มุมมองและความเห็นในเรื่องนี้ รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย ได้กล่าวแสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่า เรื่องแรก คือ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนักลงทุนจากนโยบายที่กลับไปกลับมา
ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกที่ตัดสินใจนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล้าปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น
จากข้อมูลของหอการค้าไทย ระบุว่า กัญชาเสรีช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คาดว่า ตลาดกัญชาจะมีมูลค่า 14,000 ล้านบาทภายในปี 2568 ดังนั้น การนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดจะสูญเสียการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมากและรัฐบาลอาจต้องสูญเสียรายได้และงบประมาณเยียวยาผู้เสียหายด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายหากนำ "กัญชา" กลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการกัญชาที่ไม่คุ้มค่าที่จะนำกลับไปควบคุมให้เป็นยาเสพติดเพราะต้องมีขั้นตอนและองค์กรเกี่ยวข้องจำนวนมาก
รวมถึงระเบียบและวิธีการต่าง ๆ ในการอนุญาตให้ปลูก การแปรรูปใช้ประโยชน์ที่จำเป็นต้องเพิ่มคนและงบประมาณอีกมากเพื่อมาดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ การเข้าถึงการให้บริการผู้ป่วย การศึกษาวิจัย รวมถึงการไปสร้างเศรษฐกิจของชาติด้วยซึ่งปัจจุบันนี้การปลูกกัญชาได้สร้างเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนมีงานทำขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรเองก็มีพัฒนาทักษะและความรู้ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น วันนี้เราสามารถสร้างผู้ปลูกกัญชามากมายนับล้านคนที่มีประสบการณ์และมีความรู้ในเรื่องนี้
ต่อข้อซักถามที่ว่า ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ยังคงให้ทำในเรื่องของการแพทย์นั้น รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย ให้มุมมองว่า จะมองในเรื่องนั้นก็ไม่ผิดแต่ในเรื่องของการบริการจัดการเรื่องของกัญชานั้นจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพราะการถือครองกัญชาอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนมากกลับไปอยู่ในคุก ขณะที่ภาคของการผลิตกัญชากัญชงก็จะถูกมองว่า ทำถูกกฎหมายหรือไม่ หากถูกกดกลับไปเป็น "ยาเสพติด" เรื่องเหล่านี้ก็จะกลับลงไปสู่ใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง
หลังการปลดล็อกกัญชาในปี 2565 ส่งผลให้นักโทษคดีกัญชาประมาณ 4,200 คนได้รับการปล่อยตัวซึ่งเป็นผลมาจากการลดทอนความเป็นอาชญากรรมในขณะเดียวกันการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดอีกจะทำให้เกิดตลาดมืด เป็นช่องทางให้ผู้รักษากฎหมายหาผลประโยชน์และจะมีคนติดคุกอีกจำนวนมาก
กัญชา เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาสมุนไพรของชาติซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีสมุนไพรใดที่มีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ไม่เต็มที่ขณะเดียวกันการปลูกกัญชานั้นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมากซึ่งประเทศไทยสามารถปลูกพืชที่มีความยากขนาดนี้ได้จึงเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาสายพันธุ์ดี ๆ รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยได้เยอะ ครอบคลุมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูก ผลิต การแปรรูป
รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนเรื่องของการตลาดรวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งหากดูมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมีมูลค่านับแสนล้านบาทที่จะทำรายได้ให้กับประเทศชาติ ไม่นับรวมกับเม็ดเงินของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาอีกจำนวนมาก
จากประสบการณ์ของคนไทยที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้มานานมากแล้วก็จะกลับไปสู่ปัญหาเดิม ๆ บทเรียนกว่าสิบปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยเป็นบทเรียนให้กับทั่วโลก คือ การที่เรากล้าที่จะตัดสินใจแต่ท้ายที่สุดแล้วจะกลับไปสู่จุดเดิมจากอุปสรรคจากปัญหาการเมืองอย่างนั้นหรือ? รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย อดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวตั้งข้อสังเกต
สำหรับในเชิงของการศึกษาวิจัยนั้น รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้โดยตรงเข้าไปควบคุมกำกับ รวมถึงเรื่องของการผ่อนปรนซึ่งอาจพิจารณาเป็นรายพื้นที่ หรือบางส่วนของโรงพยาบาล ของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรี อาจไม่ถึงกับต้องใช้ถึงขนาดในเชิงของการแพทย์เพียงแต่ต้องให้การสนับสนุนการใช้ให้มากขึ้น"
1.ไม่นำกัญชากลับเป็นยาเสพติด
2.เสนอให้ "กัญชา" นั้นควรอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ที่กำลังนำเสนอสู่สภา เทียบเท่าพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทนที่จะนำกลับมาเป็น ยาเสพติด เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
3.เสนอให้เกิดวิชาชีพกัญชาเวชศาสตร์เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพหนึ่งในการใช้กัญชาตามกฎหมายและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง