นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการให้ทำงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับปีงบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ตามมติครม.เมื่อเดือนที่ผ่าน หลังจากได้เห็นชอบหลักการแหล่งเงินที่จะให้ดำเนินโครงการ 3 แหล่ง ได้แก่ งบประมาณปี 67, งบประมาณปี 68, และมาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารงบประมาณ สำหรับการใช้แหล่งเงินงบปี 67 ซึ่งวิธีการบริหารแหล่งเงินมีทั้งการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ การใช้งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น รวมถึงการทำงบประมาณเพิ่มเติมด้วย ซึ่งหลังจากประชุม 2 หน่วยงานนำเสนอแนวทางที่เหมาะสม คือ การใช้งบเพิ่มเติม โดยผูกพันกับการใช้งบประมาณของรัฐไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
“คลังได้นำเสนอครม. ว่า การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากการเบิกจ่ายขณะนี้เป็นไปได้ดีหลังจากพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ปีผลบังคับใช้ โดยกรมบัญชีกลางได้เร่งการเบิกจ่ายตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยหากใช้วิธีดังกล่าวจะกระทบการผลิต และการลงทุนในภาคเอกชน ที่ผูกพันกับการใช้งบประมาณของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้น วิธีการที่เหมาะสมที่สุด จึงควรใช้งบประมาณเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ หลังจากการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมผ่านความเห็นชอบในหลักการของครม.แล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง และสุดท้ายจะนำกลับมาเสนอครม.อนุมัติภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ตามที่มีกระแสข่าว 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าว ที่ประชุมครม.เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ, พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ, และตามกฎหมายพ.ร.บ.งบประมาณ
“การเลือกใช้พ.ร.บ.โอนเงินประมาณ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เนื่องจากจะต้องรอให้งบประมาณปี 67 สิ้นสุด 30 ก.ย.67 และหลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการออกร่างกฎหมาย และดำเนินเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนการใช้วิธีการงบประมาณเพิ่มเติม ต้องผ่านขั้นตอนการออกกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่หากผ่านการอนุมัติของครม.แล้ว จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนสภาฯ ได้ภายในเดือนก.ค.67 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.67”
สำหรับการทำงบประมาณเพิ่มเติม พิจารณาภายใต้ 1. แหล่งรายได้ใหม่ และ 2. การกู้เงินชดเชยขาดดุล โดยต้องดูภายใต้เพดานกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินเราทำอยู่ภายใช้กรอบกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งรายได้ใหม่ไม่ได้ถูกบรรจุในงบประมาณที่ผ่านไปแล้ว ส่วนเป็นรายได้มาจากที่ใดยังไม่สามารถระบุได้ ส่วนหากรายได้ใหม่เข้ามาไม่เพียงพอต่อวงเงินที่ต้องการใช้ สามารถใช้ทั้ง 2 วิธีการดังกล่าวเพื่อจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมได้
“ยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมไม่กระทบกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการเงินดิจิทัลแน่นอน โดยยังมีกำหนดการเปิดลงทะเบียนไตรมาส 3 และคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4”