"สมศักดิ์" เดินหน้าดึง "กัญชา" กลับเป็นยาเสพติดภายในสิ้นปีนี้

23 พ.ค. 2567 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2567 | 04:56 น.

"สมศักดิ์" เดินหน้าดึง "กัญชา" กลับเข้ายาเสพติดเดินหน้าทำกฎหมายลำดับรอง 2 เรื่อง ย้ำเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์-เศรษฐกิจ เผยประกาศและกฎกระทรวงต้องมีระยะเวลาบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนปรับตัว ลั่นต้องเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 

23 พฤษภาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหมายดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ประกอบกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีซึ่งกำหนดนำกัญชากลับเข้ามาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนั้น ตามขั้นตอนการดำเนินการเรื่องนี้ต้องมีการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง ประกอบด้วย 

1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "พืชกัญชา" เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยยกเว้นบางส่วนของพืชกัญชา ได้แก่ ใบ กิ่งก้าน ราก ลำต้น เมล็ด 

2.กฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการอนุญาตการปลูก ครอบครอง นำเข้า ส่งออก หรือการใช้กัญชา 

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นควรกำหนดเป้าหมายและกรอบเนื้อหาของร่างกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องที่จะได้ยกร่างขึ้นเสนอเพื่อดำเนินการต่อไป 3 ประการ คือ  

1.เจตนารมณ์ของการอนุญาตปลูก ครอบครอง นำเข้า ส่งออก หรือ เสพกัญชา ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือ ประโยชน์อื่น ๆ ในทำนองเดียวกันเท่านั้น 

2.ระบบอนุญาตต้องไม่เป็นภาระกับประชาชนเกินสมควร โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาต ที่จะกำหนดในกฎกระทรวงการอนุญาตดังกล่าว เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การยื่นคำขอ ระยะเวลาที่ใช้ในการอนุญาต เกณฑ์หรือเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาต หรือ การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตอื่น ๆ

ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการอนุญาตซึ่งต้องมีความชัดเจน ได้สัดส่วน โดยมีข้อกำหนดการปฏิบัติหรือต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชนเท่าที่จำเป็นและน้อยที่สุดเพียงเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการเท่านั้น

3.ประกาศกระทรวงและกฎกระทรวงที่จะเสนอ ควรต้องกำหนดวันใช้บังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีเวลาและมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจหรือดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นก่อนประกาศกระทรวงหรือกฎกระทรวงเหล่านั้นมีผลใช้บังคับด้วย