จากการประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลากของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่ 30 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 หลายพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น มีปริมาณฝนเกิน 100 มม. ได้แก่ ตำบลบ้านเป็ด ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น ตำบลศรีสุขสำราญ อำเภออุบลรัตน์ ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ และ ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกในระดับความรุนแรงกลางถึงหนักมาก ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายในหลายบริเวณ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 1 จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย
งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ 14 เส้นทาง และงานอาคารชลศาสตร์ 2 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ก้าวหน้าไปแล้วกว่า 55.25% พบว่า โครงการฯ สามารถช่วยป้องกันพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น ครอบคลุมบริเวณถนนกสิกรทุ่งสร้าง-เขตพื้นที่ประมงขอนแก่น ถนนหลังศูนย์ราชการ ถนนมิตรภาพ ถนนบ้านไทรทอง และถนนสีหราชเดโชไชย สิ้นสุดบึงหนองโคตร (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)
โดยปริมาณฝนสะสมสูงสุดถึง 117 มม. (เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567) แต่สามารถลดระดับน้ำท่วมขังลงสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังตามแนวก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยผู้แทนจากเทศบาลตำบลเมืองเก่า กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 1 จังหวัดขอนแก่น แม้จะยังดำเนินการไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่สามารถระบายน้ำท่วมขัง ที่เกิดจากฝนตกหนักหลายวันที่ผ่านมา ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริเวณถนนกสิกรทุ่งสร้าง ถนนมิตรภาพ ไม่มีน้ำท่วมขัง ประชาชนสัญจรไปมาได้ปกติ
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความห่วงใยจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และการแจ้งเตือนภัยของจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที