KEY
POINTS
นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อออก "แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ" รอบใหม่เพิ่มเติม ว่า ควรจะมีมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว เนื่องจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของปี 67 ที่ออกมาน้อยเพราะไตรมาสสี่ของปี 66 ฐานค่อนข้างดี
นายวีระยุทธกล่าวว่า รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาคู่ขนานระหว่างการแก้ปัญหาระยะสั้น หรือ มาตรการเฉพาะหน้าสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนกับการมีทีมแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว เพื่อวางแผนไปพร้อมกันว่าต้องการให้เศรษฐกิจไทยเดินไปในทิศทางไหน
นายวีระยุทธกล่าวว่า เวลาเปรียบเทียบตัวเลขจีดีพีไทยต่ำที่สุดกับอาเซียน แต่มีตัวเลขที่ไทยสูงที่สุดกว่าทุกประเทศในอาเซียน คือ ตัวเลขเงินลงทุนที่ไหลออกไปนอกประเทศ หมายความว่า ผู้ประกอบการไทยมีเงิน แต่เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ เพราะผลตอบแทนน่าดึงดูดใจมากกว่าในประเทศ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ จะทำอย่างไรให้กลุ่มธุรกิจไทยลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
“เรื่องเก่า ๆ ที่ยังค้างคาราคาซังกันมาก็คือ เรื่องจ่ายเงินใต้โต๊ะ เรื่องคอร์รัปชั่น และเรื่องกฎระเบียบ การออกใบอนุญาตซ้ำซ้อนและเป็นต้นทุน ซึ่งเป็นสองเรื่องที่ภาครัฐสามารถทำได้โดยตรง”ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลชี้ถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยหนีไปลงทุนต่างประเทศ
นายวีระยุทธกล่าวว่า ถ้าภาครัฐส่งสัญญาณชัดเจนจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องคอร์รัปชั่น และถ้าลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต การกีโยตินกฎหมายที่ล้าสมัยจะทำให้ลดต้นทุนให้กับภาคเอกชนได้
นายวีระยุทธกล่าวว่า ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งน่าเป็นห่วงมากกว่าระยะสั้น เช่น ตัวเลขการลงทุนน้อยเกินไป การส่งออกที่เริ่มแข่งขันไม่ได้
“ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกยังไม่น่าห่วงเท่ากับตัวเลขเศรษฐกิจระยะยาว ถ้าตั้งทีมครม.เศรษฐกิจก็อยากให้นำตัวเลขระยะยาวมาดู ซึ่งตัวที่น่ากังวลก็คือ ระดับการลงทุนของไทยต่อจีดีพีค่อนข้างต่ำ 20 % เท่านั้นเอง ควรจะขึ้น 25 -30 % เพื่อที่จะทำให้เติบโต และการส่งออกที่น่าเป็นห่วง เพราะสินค้าส่งออกไปตลาดโลก เป็นสินค้าที่โลกต้องการน้อยลงเรื่อย ๆ ต้องปรับโครงสร้างการส่งออกอย่างจริงจัง”นายวีระยุทธกล่าว
นายวีระยุทธกล่าวว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ภาคการส่งออก เพราะภาคการผลิตไทยถดถอยต่อเนื่อง อัตราการผลิตลดลง แม้จะมีเครื่องจักรอยู่ แต่ไม่มีความต้องการ (Demand) อีกด้านหนึ่งต้องเผชิญกับปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนล้นตลาด สินค้านำเข้าราคาถูกเข้ามา ขณะเดียวกันสินค้าการส่งออกของไทยเก่าและเริ่มเป็นที่ต้องการน้อยลงจากตลาดโลก เช่น ยานยนต์ ฮาร์ดดิสไดร์ ซึ่งเป็น “เดอะแบก” ของเศรษฐกิจไทยมา 20 กว่าปี โดนดิสรัปต์ในตลาดโลก ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนต้องหาตัวใหม่ที่จะทำให้ส่งออกไปต่อไป เพราะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนอุตสาหกรรมใหม่ที่ตลาดโลกต้องการ
นายวีระยุทธกล่าวว่า หลายเรื่องไม่ได้มีผู้ได้และผู้เสียโดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องลงในรายละเอียด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งคิดเป็น 20 % ของจีดีพี มีการจ้างงาน 900,000 คน ถึง 1 ล้านคน ซึ่งโดนดิสรัปต์จากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยภาครัฐไทยมองว่าจะเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น หมายความว่า เชื่อว่า แรงงานจะได้รับการ re-skill และเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวี ไปต่อได้ มีเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
“พอแรงงานไทยไม่สามารถไปต่อได้ และยังไม่มีมาตรการ re-skill จริงจัง อาจจะทำให้ตัดขาด แทนที่จะเชื่อมต่อกัน กลายเป็นช่างกลุ่มใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปเก่ารอวันล่มสลาย ดังนั้น ภาครัฐต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นกว่านี้ เพื่อไปต่อได้ แต่ต้องไม่ยื้อ ต้องผลัก แต่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย เพราะทิศทางของโลกไปในแนวทางพลังงานสะอาดแน่นอน”นายวีระยุทธกล่าว
นายวีระยุทธกล่าวถึง "เครื่องยนต์ท่องเที่ยว" ที่เป็น “พระเอก” ของเศรษฐกิจไทย ว่า ต้องรักษาสมดุล ระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวกับสภาพแวดล้อม ไม่ให้สูญเสียไปเพราะมีเพดานศักยภาพของประเทศ จึงไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปได้ ซึ่งสุดท้ายจะชนเพดาน แต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจท้องถิ่นมากขึ้น
นายวีระยุทธทิ้งท้ายประเด็น "สงครามการค้า" ว่า การเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับอมเริกาจะมีโอกาสเปิดให้ประเทศที่สามสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายขึ้นกว่าในภาวะปกติ ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามและมาเลเซีย เข้าไปเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานในสภาวะที่บริษัทใหญ่ ๆ ต้องการกระจายความเสี่ยง ดังนั้น จึงมีโอกาสอยู่ในสงครามการค้าแน่นอน แต่ต้องเลือกว่า ห่วงโซ่อุปทานตรงไหนที่ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าไป และอาศัยที่สงครามการค้าที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน สนับสนุนให้เข้าไปอยู่ในโจทย์กระจายความเสี่ยงของบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ได้
ส่วนไทยอยู่ตรงไหนของสงครามการค้าครั้งนี้ นั้น นายวีระยุทธกล่าวว่า “ต้องประเมินให้ชัดว่า อุตสาหกรรมไหนที่ไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ใน supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ทั้งของจีนและของอเมริกาให้ได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์”
“อีกขาหนึ่งของสงครามการค้าที่มาพร้อมกัน คือ มาตรการสิ่งแวดล้อมที่จะกลายเป็นกำแพงการค้าในอนาคตต่อไป เช่น CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) การส่งออกไปประเทศยุโรปมีปัญหา ไทยควรจะเตรียมพร้อมมากขึ้น ต้องรีบปรับตัว”