ครม.ไฟเขียวประเทศไทย ร่วมวงสมาชิกกลุ่ม BRICS เคียงคู่จีน-รัสเซีย

28 พ.ค. 2567 | 12:29 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2567 | 12:34 น.

ครม. ไฟเขียวเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของ “ประเทศไทย” ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เคียงคู่จีน-รัสเซีย เชื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) โดยอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ เป็นผู้ลงนามในหนังสือ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย

ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 

จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เพิ่มโอกาสไทยร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน 

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง 

นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุม และไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด

สำหรับความร่วมมือในกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสา ได้แก่ 

  • เสาด้านการเมืองและความมั่นคง 
  • เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน 
  • เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม 

โดยนอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้ว แต่ละเสายังมีการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน 

ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยมีความพร้อมการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น 

ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของยาวขนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รู้จักกลุ่ม BRICS

สำหรับกลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน (สมาชิกแรกเริ่ม 4 ประเทศ ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC) สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2553 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS) 

ขณะที่ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (5 ประเทศหลัง เข้าเป็นสมาชิกใหม่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567) 

โดยมีประชากรรวมกันทั้งหมดประมาณ 39% ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันประมาณ 28.4% ของโลก ซึ่งในปี 2567 สหพันธรัฐรัสเซียเป็นประธานกลุ่ม ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening multilateralism for fair global development and security”