แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาลตั้งงบเพิ่ม กระทบเสถียรภาพ-พื้นที่การคลัง

28 พ.ค. 2567 | 23:41 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 04:38 น.

แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาล หลังครม.เคาะแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ตั้งงบเพิ่ม กู้เงินชดเชยขาดดุล แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงกระทบเสถียรภาพ และพื้นที่การคลัง หวั่นไม่มีกระสุนรองรับวิกฤตในอนาคต

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญเป็นการเตรียมความพร้อมแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาลนั้น

ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบความเห็นบรรจุเข้าวาระครม. มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล)10851 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน (ครั้งที่ 2) โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นั้น

ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2567

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แต่รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลของการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อเสถียรภาพการคลัง และจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน 

นอกจากนี้ พื้นที่ทางการคลัง (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายด้านการคลัง จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และดำเนินนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย

 

แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาลตั้งงบเพิ่ม กระทบเสถียรภาพ-พื้นที่การคลัง

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวนครั้งนี้ ได้ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2,797,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท

ส่วนประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 122,000 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

ขณะที่การขาดดุลงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อ GDP, ปี 2568 อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อ GDP, ปี 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อ GDP, ปี 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 % ต่อ GDP และปี 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อ GDP 

ส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 65.7%, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9%, ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8%, ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9% และ ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%

นอกจากนี้ยังได้กำหนดตัวเลข GDP ของไทยใหม่ โดยปรับลดลง ดังนี้ ปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 2.5%, ปี 2568 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.0%, ปี 2569-2570 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.2% และ ปี 2571-2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.0%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9 -1.9% และปี 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1 - 2.1 ส่วนในปี 2571 - 2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3 - 2.3%