จับตา ครม. เคาะกู้เงิน 1.12 แสนล้าน ขาดดุลงบปี 2567 พุ่งทะลุ 8 แสนล้าน

27 พ.ค. 2567 | 23:27 น.

จับตา ครม. วันนี้ หารือแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับปรับปรุง เตรียมเคาะกู้เงินอีก 1.12 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในปี 2567 ส่งผลให้ยอดรวมพุ่งทะลุ 8 แสนล้านบาท

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจับตาคณะกรรมนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เตรียมเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 หลังจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการทบทวนแผนครั้งใหม่ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับนี้ ได้มีการปรับปรุงกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ใหม่อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท

โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในรายละเอียดจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท อีกส่วนมีการประเมินว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ตามหากพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เดิม สำนักงบประมาณ ได้ตั้งกรอบวงเงินไว้จำนวน 3,480,000 ล้านบาท โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท

หากรวมกับการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท จะทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,602,000 ล้านบาท

ขณะที่วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เดิม สำนักงบประมาณ ได้ตั้งกรอบวงเงินขาดดุลไว้ 693,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการจัดทำงบเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 และต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท จะทำให้กรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 805,000 ล้านบาทด้วย

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การอนุมัติกรอบกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท ส่งผลให้กรอบการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 0.14% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 68% แต่ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 70% ต่อ GDP

ทั้งนี้หากที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปี 2568-2570 ฉบับทบทวน แล้ว ในขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ จะร่วมกันทบทวนการประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนำเสนอครม.ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ต่อไป

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องจัดทำคำของบประมาณเพิ่มเติม เข้ามาให้สำนักงบประมาณพิจารณา และเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดพิมพ์เป็น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ เสนอให้ครม.เห็นชอบอีกครั้ง ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร 

โดยคาดว่า การดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐสภาจะเสร็จสิ้น ในวันที่ 13 สิงหาคม 2567 จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป