หลังจากรัฐบาลพยายามหาช่องทางเตรียมความพร้อมของแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดหนึ่งในแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการมีความชัดเจนแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คาดว่าจะมีกรอบวงเงินประมาณ 122,000 ล้านบาท
โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการหารือกรอบวงเงิน งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกครั้ง ในคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งจะนัดประชุมกันในอีกไม่กี่วันนี้ เพื่อพิจารณารายละเอียด จากนั้นจึงนำกรอบการเงินการคลังระยะปานกลางที่ได้ทบทวนใหม่มาเสนอครม.อีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นี้
ก่อนจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ เพื่อเสนอครม.อีกครั้ง ก่อนเสนอรัฐสภาเป็นลำดับสุดท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำหรับที่มาที่ไปของการตัดสินใจจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น แหล่งข่าวระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้หารือร่วมกับ สำนักงบประมาณ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในปีงบประมาณนี้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจในวงประชุมดังนี้
ในการหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาท และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 และสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณแล้วรวมทั้งสิ้น 3,457,941.24 ล้านบาท คิดเป็น 99.37% โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 1,749,963,43 ล้านบาท คิดเป็น 50.61% ของงบประมาณที่จัดสรร
ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของกรมบัญชีกลางที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างรายการปีเดียวและเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 และสำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ควรก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการปรับลดงบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณที่เบิกจ่ายไม่ทัน หรือหมดความจำเป็นให้แก่หน่วยรับงบประมาณอื่นจะทำได้ผ่านพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรไปแล้ว และอาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวต้องหยุดชะงักและชะลอตัวลง
ทั้งนี้เนื่องจากก่อนการจัดทำพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยจะต้องชะลอการเบิกจ่าย การโอน หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรทุกกรณีจนกว่ากระบวนการพิจารณาการโอนงบประมาณจะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
ดังนั้น การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จึงเป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐาน เศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ
สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.เพื่อมุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชา และภาคธุรกิจ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.เพื่อจัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว และส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยและอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐ โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบราชการ
3.การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสำคัญ คือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีอย่างครบถ้วน
ด้วยเหตุนี้ สำนักงบประมาณ จึงได้เสนอมาให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยเตรียมจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ต่อไป