วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน SUBCON Thailand 2024 ตอนหนึ่งถึง โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่า โครงการ Landbridge มีความสำคัญกว่าซื้อเรือดำน้ำและเครื่องบินรบ โดยรัฐบาลพร้อมผลักดัน เพื่อทำให้ไทยมั่นคงในเวทีการค้าโลก และก้าวขึ้นเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียให้ได้
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ดีของการดึงดูดการลงทุน และมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนหลายด้าน โดยเรื่องแรกคือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ
แต่ด้วยการดำเนินนโยบายความเป็นกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทยตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลนี้ ในจุดยืนความเป็นกลางด้านการเมืองที่เราไม่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้สนับสนุนการให้มีความสงบในทุก ๆ ภูมิภาคซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน
“จุดยืนของไทยที่มีความเป็นกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ สามารถส่งผลเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย และเป็นจุดแข็งของการค้า การลงทุนในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ โดยรัฐบาลได้เดินหน้าดึงดูดการลงทุนซึ่งมองหาความเป็นกลางนี้ โดยยืนยันนโยบายรัฐบาลประเทศไทยไม่ลำเอียงไปหาชาติใดชาติหนึ่ง มุ่งการค้าขายอย่างเดียวกับทุกประเทศ และยึดมั่นความสงบสุข เพื่อทำให้ขบวนการผลิตไม่สะดุดและเดินต่อไป” นายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีจุดแข็งเรื่องของพลังงานสะอาดที่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในไทยได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง และขอความร่วมมือบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในการดำเนินการและสนับสนุนเรื่อง Supply Chain อุตสาหกรรมนี้ด้วย
รวมไปถึงรัฐบาลได้เดินหน้าขยายเรื่องการเจรจาความร่วมมือการค้า (FTA) กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งศรีลังกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และอังกฤษ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตไทย สามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งไทยยังมีศักยภาพในด้านต่าง ๆ ในการดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งเรื่องด้านการแพทย์ การมีโรงเรียนนานาชาติที่ดี และมีระบบการดูแลสุขภาพในระดับโลก
รวมถึงการที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing business) ที่จะมีการแก้ไขและพัฒนาต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Single Window และ One stop service ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อใจในการที่จะมาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น
ส่วนการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในการดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในไทยว่า คณะผู้แทนไทยทุกคนคำนึงถึง Supply Chain ทั้งหมดของประชาชนไทยและภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะต้องมาอยู่ในห่วงโซ่ทั้งหมดของอุตสาหกรรมผลิต โดยนโยบายของรัฐบาลได้มีการตั้งเงื่อนไขให้ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
รวมถึงการถ่ายทอดด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะแรงงาน เพื่อที่เราจะไม่ถูก Left behind และทำให้การพัฒนา Value chain ของอุตสาหกรรมไทยก็จะถูกพัฒนาไปพร้อมด้วยกับการที่มีบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนในไทย
ขณะที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ นายกฯ ระบุว่า ไทยเคยเป็น Detroit of Asia มาก่อน โดยมีบริษัทใหญ่ ๆ ได้มาลงทุนในประเทศไทยทั้ง ฮอนด้า โตโยต้า อีซูซุ ที่มาลงทุนในประเทศไทย 50 -60 ปีแล้วและมีมูลค่าการลงทุนเป็นล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมาได้ไกลขนาดนี้ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์และนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาร่วมกันลงทุน
อย่างไรก็ตามไทยยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นด้วย โดยไทยก็มีการเจรจาและจะให้สิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการส่งออกรถยนต์ได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ
โดยรัฐบาลได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้ง ระบบราง สนามบิน ท่าเรือน้ำลึกปัจจุบันอยู่ในเฟส 3 โครงการ Landbridge โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะมาส่งเสริมการเป็น Supply Chain อุตสาหกรรมนี้และทำให้ประเทศไทยมีจุดยืนที่มั่นคงในเวทีการค้าโลกด้วย
สำหรับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ EV โดยนโยบาย 30@30 ผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งคณะกรรมการ EV กำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ส่งผลให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยปัจจุบันผู้ผลิต EV ค่ายจีนก็ได้ตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และมีหลายเจ้าสร้างโรงงานใกล้จะเสร็จแล้ว
นอกจากนี้ในนโยบายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งใน Ignite Thailand ที่จะต่อยอดไปสู่ Upstream และ Smart Electronic มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาบีโอไอ ได้ปรับปรุงการส่งเสริมให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญ ในห่วงโซ่อุปทานของ Printed Circuit Board (PCB) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้เติบโตไปพร้อมกันด้วย