นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax หรือการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ ที่อัตรา 15% ตามข้อตกลงร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ รมว.คลัง เพื่อเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้
โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมครม.เศรษฐกิจ ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะดำเนินการไม่ทันตามกรอบเวลา เนื่องจากมีประเด็นเศรษฐกิจหลายประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตนได้ตอบที่ประชุมว่าขณะนี้อยู่ในกระบวนการ และยืนยันว่าจะสามารถดำเนินการได้ในกรอบเวลาเดิม คือ สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2568 และภายในสิ้นปี 2567 นี้ กระบวนการแก้กฎหมายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
“เรายืนยันว่า กระบวนการออกกฎหมายจะอยู่ในกรอบเวลาเดิม โดยกฎหมายระยะสั้นนั้น ตนจะเป็นผู้ไปนั่งเป็นประธานเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศ เพราะจะช่วยให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท”
สำหรับแนวคิดของ Global Minimum Tax คือ หากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำได้ โดยขอบเขตการจัดเก็บภาษีจะพิจารณากลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป
ส่วนแนวคิดการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาใช้อีกครั้งนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะนำกลับมาใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้นำเอาข้อมูลของกองทุนดังกล่าวมาศึกษาแล้ว โดยที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ได้หารือถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยระหว่างนี้จนถึงปลายปีจะต้องมีมาตรการออกมา เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ส่วนจะนำ LTF ออกมาหรือไม่ ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบาย และขณะเดียวกัน ตอนนี้มีกองทุน Thai ESG ซึ่งยังมีทางเลือกอยู่ ซึ่งรัฐบาลอาจจะขยายกองทุนดังกล่าว เพื่อกระตุ้นการลงทุนก็ได้ ต้องรอดูรายละเอียดนโยบายอีกครั้ง