คลังสั่ง 3 กรมภาษี เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

31 พ.ค. 2567 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 11:35 น.

“จุลพันธ์” รมช.คลัง สั่ง 3 กรมภาษี เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้มาตรการระยะสั้นต้องใช้กลไกที่เหมาะสม มาตรการที่เคยใช้แล้ว อาจนำกลับมาอีกได้ ส่วนระยะยาวเตรียมใช้กลไกภาษีปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายให้ทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร วางกรอบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยทั้ง 3 กรมภาษีดังกล่าวต้องส่งการบ้านกลับมาให้ตน เพื่อคัดเลือกมาตรการไปหารือรายละเอียดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เพื่ออนุมัติออกมาตรการต่อไป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับระยะสั้น ระหว่างรอโครงการดิจิทัล วอลเล็ทออกมา ระหว่างนี้ไปจนถึงช่วงปลายปี จะต้องมีมาตรการออกมา ซึ่งช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการลดหย่อนภาษีผ่าน Easy e-Receipt แล้ว หากถามว่ามีอีกหรือไม่ ก็ยังมีแนวคิด และโครงการในสต็อกที่เคยออกมาแล้ว ก็ไม่ได้ปิดปั้นที่จะนำมาใช้อีก ส่วนต้องเจาะจงหรือไม่ กลุ่มใด ส่วนนี้ขอให้มาตรการดังกล่าวออกมาก่อน

ทั้งนี้ หลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จะต้องดูกลุ่มที่มีอิมแพคทางเศรษฐกิจมากที่สุด รวมทั้งกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่  อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลอาจจะไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มดังกล่าว เพราะปัญหาความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจมีอยู่ทั้งหมด ซึ่งมีหลายจุด อาทิ ภาคการผลิต การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้น จึงต้องมาดูรายละเอียดว่ากลไกใดจะเป็นกลไกที่เหมาะสม

ส่วนระยะยาวกลไกทางภาษีสามารถช่วยเหลือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ โดยเราสามารถใช้ภาษีช่วยดูว่าธุรกิจประเภทใดที่เป็นธุรกิจในอนาคต และเราต้องการช่วยสนับสนุน รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เป็นต้น เราสามารถใช้กลไกภาษีเข้าไปดูแล รวมทั้งสนับสนุนให้เป็นไปตามทิศทางนโยบายของรัฐได้

“กรอบการทำงานระยะยาว กลไกทางภาษีของแต่ละกรมมีผลต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ ล้อกับแนวนโยบายของรัฐ เช่น ESG ฝุ่นควัน กลไกการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ เรื่องเหล่านี้กลไกทางภาษีสามารถทำได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาเราก็ใช้กลไกทางภาษีสนับสนุนรถอีวี และตอนนี้ก็กำลังหากลไกเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ให้ประเทศไทยกลับมามีขีดความสามารถในการแข่งขัน”