นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าการใช้กฎหมายภาษีดังกล่าวมีอะไรที่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือไม่ ซึ่งผลการทบทวนจะเสร็จในปลายปี 2567 นี้
สำหรับกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าว ถูกริเริ่มเมื่อกว่า 20 ปีแล้ว และสามารถผลักดันเป็นกฎหมายในปี 2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีนี้ครั้งแรกในปี 2563 แต่เป็นปีที่ประเทศเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลจึงตัดสินใจลดภาระภาษีดังกล่าว 90% เพื่อบรรเทาภาระให้กับประชาชน
“รัฐบาลได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลุกสร้างเพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนช่วงโควิดให้กับประชาชน นานถึงปี 2564 และมาเริ่มเก็บเต็มอัตราตามที่กฎหมายกำหนดในปี 2565 ส่วนปีที่แล้วรัฐบาลก็ลดภาระภาษีดังกล่าวให้กับประชาชนในอัตรา15%ของภาระที่จ่าย เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจ”
ส่วนในปี 2567 นี้ ไม่มีมาตรการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับประชาชน ทำให้คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ ขึ้นสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าในอนาคตรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มขึ้น และโอกาสที่รายได้จะลดลงแทบไม่มี เนื่องจากฐานภาษี คือมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งราคาสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในแง่จำนวนรายที่เสียภาษีดังกล่าว พบว่า ในปีแรกของการจัดเก็บภาษี มีคนจ่ายภาษีนี้เพียง 7ล้านราย แต่ในปี 2565 มีผู้เสียภาษีที่ดินมากถึง 16 ล้านราย
สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินนั้น เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องเป็นคนออกไปสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เนื่องจากการใช้ประโยชนในที่ดินแต่ละประเภทมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ปัจจุบัน. กทม.ได้ทำการประเมินการใช้ประโยชนในที่ดินแล้วเสร็จ 99.4%ของแปลงที่ดินทั้งหมด คิดเป็นแปลงที่ดินที่สำรวจแล้ว 2.1ล้านแปลง เป็นจำนวนบ้าน 2.2 ล้านหลัง เป็นคอนโดมิเนียม 1 ล้านห้อง
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล เชื่อว่าจะช่วยระบายสต็อคที่อยู่อาศัยได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง และจะเป็นส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจที่ไตรมาส1ของปีนี้ ขยายตัวเพียง 1.5%เท่านั้น โดยเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ อย่างไรก็ตาม จากนี้จนถึงสิ้นปี 2567 งบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าได้เริ่มมีการเบิกจ่ายแล้ว และบวกกับมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ