รัฐบาลดัน “มาตรการเยียวยาแรงงาน” 2 รมต.นัดถกสัปดาห์หน้า สรุปชงครม.

05 มิ.ย. 2567 | 09:08 น.
อัพเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 09:14 น.

รัฐบาลพร้อมดัน “มาตรการเยียวยาแรงงาน” หลังนายกรัฐมนตรี สั่งการด่วนในครม. ล่าสุด “พิพัฒน์” เตรียมหารือ “พิชัย” สัปดาห์หน้าหาข้อสรุป ก่อนเสนอครม.ไฟเขียว หวังประคองการจ้างงาน กันธุรกิจปิดกิจการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า กระทรวงแรงงานเตรียมหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสัปดาห์หน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการออก มาตรการเยียวยาแรงงาน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายไว้ในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

เบื้องต้นภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงแรงงานจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวง เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคม เพื่อประชุมเป็นการภายในเพื่อเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล รวมไปถึงการติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานก่อนนำรายละเอียดต่าง ๆ ไปหารือกับกระทรวงการคลัง ต่อไป

“มาตรการที่จะออกมาตอนนี้ยังไม่ได้พิจารณาออกมาว่าจะเป็นมาตรการด้านใด ทั้งมาตรการทางด้านการเงิน หรือมาตรการภาษี โดยจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อนว่า จะมีแนวทางการดูแลอย่างไรบ้าง โดยตั้งเป้าหมายการดูแลสถานการณ์ด้านแรงงาน การจ้างงาน รวมไปถึงการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ ให้สามารถคงการจ้างงานต่อไปได้ ภายใต้เศรษฐกิจในปัจจุบัน” นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับการเตรียมความพร้อมออก “มาตรการเยียวยาแรงงาน” นั้น เป็นผลมาจาก นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมครม.ขอให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ร่วมกันหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานอย่างเหมาะสม และให้นำมารายงานต่อ ครม. ในครั้งต่อไป ภายหลังเห็นสัญญาณการปิดกิจการและการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบสถานการณ์แรงงาน ล่าสุด ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) รายงานว่า สถานการณ์การว่างงาน ในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 1% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 4.1 แสนคน ส่วนปัญหาการว่างงานระยะยาวหรือผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน คือลดลง 4.9% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวประมาณ 7.9 หมื่นคน

อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยในไตรมาสนี้ มีผู้เสมือนว่างงานมีประมาณ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประมาณ 3.9 แสนคน

ขณะที่ภาพรวมของสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ประชากรวัยแรงงานจำนวน 59.1 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.2 ล้านคน หรือ 68% ของประชากรวัยแรงงาน ที่เหลือเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน โดยเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 

โดยเป็นการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม การลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมยังคงเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.2%