คลังยันฐานะแกร่ง ปีดหีบงบ 67 ได้ไม่ต้องกู้เพิ่ม ปัดโยกย้ายอธิบดีกรมภาษี

05 มิ.ย. 2567 | 10:03 น.

คลังยันฐานะแกร่ง ปีดหีบงบ 67 ได้ไม่ต้องกู้เพิ่ม ปัดโยกย้ายอธิบดีกรมภาษี แจงเก็บรายได้ต่ำเป้า 3.9 หมื่นล้าน จากลดภาษีน้ำมัน-ออกมาตรการส่งเสริมอีวี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม กระทรวงการคลัง พร้อมด้วย 3 กรมจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร เข้าพูดคุยถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีนี้

เบื้องต้น กรมสรรพากร และศุลกากรยังจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย จะมีแค่กรมสรรพสามิตที่เก็บหลุดเป้า หลังมีการลดภาษีน้ำมันดีเซล และเบนซิน รวมถึงมาตรการรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เก็บภาษีรถยนต์ได้ลดลงจาก 25-35% เหลือเพียง 2% 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง และจะปิดหีบงบประมาณปี 67 ลงได้แน่นอน โดยไม่ต้องกู้เพิ่ม ใช้เพียงกลไกระบบราชการปกติก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปีไหนที่จัดเก็บ หรือเบิกจ่ายรายได้ตามเป้าโดยตรง แต่ภาพรวมก็ไม่ได้หนักใจต่อการจัดเก็บรายได้ปีนี้ ขณะที่การประชุมกับนายกฯ จะมีการบ้านอะไรเพิ่มหรือไม่ ก็ต้องรอหลังการประชุมออกมาก่อน  

ส่วนกระแสข่าวจะโยกย้ายอธิบดีในกรมภาษีต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาจัดเก็บรายได้พลาดเป้าไม่ใช่เรื่องจริง และไม่มีเรื่องนี้แน่นอน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายได้รัฐบาลที่หลุดเป้าหมายไปประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ในรอบ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 สาเหตุสำคัญเป็นผลจากนโยบายการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลให้แก่ประชาชน ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปราว 2.4 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ นโยบายภาษีเพื่อการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าก็ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง ขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ที่ตกลงอย่างชัดเจนทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปราว 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังคงยืนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 2567 ที่ 2.797 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้หลักยังคงเป็นกรมสรรพากร ซึ่งจะต้องทำงานหนักมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มเติมมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว คาดว่า จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มหลายพันล้านบาท

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.12 แสนล้านบาทนั้น งบประมาณดังกล่าวจะจัดเป็นงบเพิ่มเติมที่ต้องนำไปรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งไว้ 3.48 ล้านล้านบาท ทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อยู่ที่ 3.59 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ เมื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาคำนวณวงเงินการขาดดุลงบประมาณตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแล้ว จะเท่ากับว่า รัฐบาลสามารถมีวงเงินการขาดดุลงบประมาณได้เพิ่มเติม จึงทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – เมษายน 2567)นั้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,386,040 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาท หรือ 2.7% โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ รายได้รัฐบาลสุทธิ จัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%

ส่วนฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,362,102 ล้านบาท ในขณะที่มี การเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,769,691 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 294,880 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 430,076 ล้านบาท