เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567
ด้วยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 วรรคสอง กําหนดให้กระทรวงการคลังสรุปรายงานสถานะของหนี้สาธารณะและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 60 วันหลังจากวันสิ้นเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปี
โดยรายงานดังกล่าว ต้องแสดงหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้เงินและค้ำประกัน ณ วันสิ้นเดือนดังกล่าว รวมทั้งรายการการกู้เงิน และค้ำประกันที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนตุลาคม ถึง เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน ถึง เดือนกันยายน ตามลําดับ
กระทรวงการคลังขอรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ดังนี้
1.รายงานสถานะหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง มีจํานวน 11,474,153.99 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 63.67 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
โดยเป็นหนี้รัฐบาล จํานวน 10,087,188.39 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จํานวน 1,072,821.61 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จํานวน 202,269.17 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จํานวน 111,874.42 ล้านบาท รายละเอียดดังปรากฏตามตารางที่ 1
คลิกดูเพิ่มเติมจากราชกิจจานุเบกษา
หนี้สาธารณะแบ่งตามอายุเงินกู้คงเหลือ จะเป็นหนี้ระยะยาวซึ่งเป็นหนี้ที่จะครบกําหนดชําระเกินกว่า 1 ปี จํานวน 9,695,775.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 84.50 และหนี้ระยะสั้น ที่จะครบกําหนดชําระภายในไม่เกิน 1 ปี จํานวน 1,778,378.00 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.50 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง จํานวนทั้งสิ้น 11,474,,153.99 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้ต่างประเทศ (หนี้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ) เทียบเท่าสกุลเงินบาท จํานวน 141,359.48 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.23 และหนี้ในประเทศ (หนี้ที่เป็นสกุลเงินบาท) จํานวน 11,332,794.51ล้านบาท หรือร้อยละ 98.77 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ที่ประกาศล่าสุดก่อนหน้านี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.14% ของ GDP