สนข.สร้างเชื่อมั่น “แลนด์บริดจ์” รับตู้สินค้าเพิ่ม- ลดต้นทุนขนส่ง-ร่นเวลา

12 มิ.ย. 2567 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 05:30 น.

  “สนข.” เปิดผลศึกษา 2 ท่าเรือชุมพร-ระนอง หลังเอกชนห่วงขนาดท่าเรือแลนด์บริดจ์ต่างกัน มั่นใจท่าเรือชุมพรรับตู้สินค้าได้ 20 ล้านทีอียู ช่วยลดต้นทุนขนส่ง 15% ร่นเวลาเพิ่ม 4 วัน ยันเอกชนมีสิทธิ์พัฒนาโครงการต่อยอดได้ หากสนใจร่วมประมูล

 

 

กรณีเอกชนรับฟังความคิดเห็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งมีข้อกังวลถึงประเด็นขนาดของท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนองทั้ง 2 ฝั่งมีความต่างกัน ที่จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งตู้สินค้า

ภายหลังรัฐบาลเปิดรับฟังความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยมีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมกว่า100 รายและในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 กระทรวงคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าโครงการฯ และนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)เพื่อให้ครม.รับทราบแล้ว

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการท่าเรือระนองสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 20 ล้านทีอียู ขณะที่ท่าเรือชุมพรสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 14 ล้านทีอียู สาเหตุที่การรองรับปริมาณสินค้าต่างกัน เนื่องจากส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าจะมาทางด้านตะวันตก โดยเฉพาะสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศจีนตอนใต้จะมาทางท่าเรือระนองมากกว่าท่าเรือชุมพร ส่งผลให้ดีมานด์ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ในผลการศึกษาได้มีการออกแบบท่าเรือชุมพรสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 20 ล้านทีอียูในอนาคตด้วย

ส่วนกรณีที่เอกชนยังกังวลความไม่ชัดเจนของโครงการฯ ที่จะช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาการเดินทางขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกานั้น จากผลการศึกษาจะพบว่าหากเอกชนเดินทางผ่านแลนด์บริดจ์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 วัน ซึ่งจะลดระยะเวลาเดินทางประมาณ 4 วัน ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงประมาณ 15% เมื่อเทียบกับการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 วัน

ส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์มีทั้งหมด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มสินค้าใช้แลนด์บริดจ์เป็นทางผ่าน 2.กลุ่มสินค้านำเข้าและส่งออกของไทย และ 3.กลุ่มสินค้าที่เข้ามาทางประเทศจีนตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และเมียนมา

“ผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของสนข.และกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงโมเดลเท่านั้น หากมีการเปิดประมูลแล้วเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลเพื่อพัฒนารูปแบบโมเดลเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามโมเดลที่เราศึกษา ซึ่งเราจะดูความเป็นไปได้ในการดำเนินการและสิ่งที่ภาครัฐจะได้ประโยชน์ด้วย หากเอกชนรายใดสามารถทำได้จะถือเป็นผู้พัฒนาโครงการฯ ทั้งนี้เอกชนที่เป็นไลน์เนอร์สามารถแบ่งสัดส่วนการกระจายขนส่งตู้สินค้าผ่านทั้งแลนด์บริดจ์และช่องแคบมะละกาได้ ตามบิสซิเนสโมเดลของเขา”

ขณะการส่งมอบพื้นที่เอกชนในโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการขอออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดพื้นที่เวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืน) และจ่ายเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ หากได้รับที่ดินแล้วจะดำเนินการส่งมอบที่ดินแก่เอกชนต่อไป

“ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับงบประมาณปี 67 อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรังวัดในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบทางรถไฟ หากทั้ง 2 หน่วยงานศึกษาแล้วเสร็จจะทำให้ทราบว่ามีพื้นที่แนวเวนคืนที่ดินบริเวณไหนประมาณเท่าไรและมีใครบ้างที่รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน”

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จะเหมือนกับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นการศึกษาจากปัญหาของพ.ร.บ.อีอีซี ในปัจจุบันเพื่อนำมาปรับใช้กับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งเน้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยมีการต่อยอดอุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติมในการสร้างมูลค่า เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง,อุตสาหกรรมฮาลาล, อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งจะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่ละแห่งด้วย

ทั้งนี้ตามแผนกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดออกกฎหมาย พ.ร.บ sec เพื่อเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในเดือนกันยายนนี้ และเสนอต่อสภาพิจารณาต่อไป คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568 ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลา 50 ปี โดยประมูลเป็นแพ็กเกจเดียวกัน

 สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) ที่เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งและคมนาคมของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย

1.การสร้างท่าเรือน้ำลึก

2 ฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง โดยมีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันด้วยการสร้างเส้นทางขนส่งทางบก โดยมีทั้งรถไฟรางคู่ และทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์)2.โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

3.ระบบราง รถไฟทางคู่ ท่อน้ำมัน ซึ่งมีเป้าหมายเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าออกสินค้าภายในประเทศ เป็นทางเลือกในการถ่ายลำเลียงขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทร เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า และเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ