"แลนด์บริดจ์" ในฝัน เมกะโปรเจกต์ ดันภาคใต้เป็นศูนย์กลางการค้า

07 มิ.ย. 2567 | 02:54 น.

ที่ปรึกษา กมธ.แลนด์บริดจ์ย้ำปีหน้าเริ่มแน่ ไม่แย่งตลาดช่องแคบมะละกา แต่มองไกลเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก วางเป้าหมายดันภาคใต้เป็นศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการเงิน

หลังจากที่รัฐบาลได้จัดประชุมทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) และที่ปรึกษาโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567

ต่อมานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (6 มิ.ย. 2567) ได้เปิดเผยว่าจากการเดินสายโรดโชว์เพื่อชักชวนนักลงทุนที่เป็นบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศให้ความมั่นใจว่าจะมาลงทุน เช่น อิตาลี จีน และขั้นตอนต่อไป คือ การเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เข้าสภาภายในสมัยประชุมสามัญที่จะเปิดในเดือนกรกฎาคมนี้   

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูป ฐานเศรษฐกิจ  ได้สนทนากับ รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการโครงการแลนด์บริดจ์ ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของความสำเร็จโครงการ ภายใต้ข้อห่วงใยเรื่องความคุ้มค่าของการใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์เพื่อขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งอาจมีต้นทุนสูงจากการยกขนพัสดุซ้ำสอง (Double Handling) 

\"แลนด์บริดจ์\" ในฝัน เมกะโปรเจกต์ ดันภาคใต้เป็นศูนย์กลางการค้า

รศ.ดร.กิตติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า มีความเห็นใจและเข้าใจว่าหากธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ ไม่ได้กำไรก็จะไม่มาใช้แลนด์บริดจ์ แต่การดำเนินโครงการนี้ขึ้นมาอย่างไรก็ต้องมีผู้ใช้งาน กรณีที่จะไม่มีใครมาใช้แลนด์บริดจ์ของไทยเลยนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งประเทศไทยก็ต้องหามาตรการ ที่จะเป็นแต้มต่อในการขนส่งสินค้าทางเรือด้านอื่นๆ

ในขณะที่ภาคเอกชน ซึ่งจะมาลงทุนก็ต้องมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาด้วย  การลงทุนท่าเรือไม่ได้หมายความว่าจากทำท่าเรืออย่างเดียวแต่อาจจะมีโรงงานการผลิตด้วย ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์คงไม่ได้ไปแย่งตลาดจากช่องแคบมะละกา แต่จะเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก เป็นความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน

จากการทำการทดสอบทางคณิตศาสตร์(simulation) พบว่าต้นทุนพอไปได้ โดยผลทดสอบคำนวณผลตอบแทน ในเวลาหลาย10ปี ที่ discount rates 5% จะมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (benefit cost ratio ) ในมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 1.32 หรือ 30% ซึ่ง

ในส่วนของความเสี่ยงนอกจากเรื่อง Double Handling แล้ว ก็จะมีเรื่องที่นักลงทุนอยากทราบว่ารัฐบาลจะลงทุนเท่าไหร่ สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยรัฐบาลให้มากขึ้นได้หรือไม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งในส่วนการลงทุนของรัฐบาล จะมีด้านการเวนคืนที่ดิน การสร้างถนน การสร้างทางรถไฟ  ซึ่งการพัฒนาท่าเรือจะต้องเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน

\"แลนด์บริดจ์\" ในฝัน เมกะโปรเจกต์ ดันภาคใต้เป็นศูนย์กลางการค้า

โครงการแลนด์บริดจ์เป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) งบลงทุนภาครัฐประมาณ 85,000 ล้าน ใน10กว่าปีข้างหน้า หากรวมกับการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ก็จะเป็น Game Changer ทำให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางทางการค้า

เนื่องจากในอนาคตช่องแคบมะละกาจะมีความหนาแน่น ในขณะที่ทะเลตอนใต้ของ แปซิฟิกที่มักจะมีความขัดแย้งกันเสมอจึงทำให้การขนส่งไม่สะดวกนัก ประเทศจีน เช่นทางคุนหมิงจึงอาจมองหาวิธีการขนส่งแบบใหม่ผ่านทางบก ทางราง

นอกจากนี้ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจส่งผลต่อการเดินเรือ เช่น ทางช่องแคบเฮอร์มุส ก็สามารถใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ในการขนส่งน้ำมัน ซึ่งแตกต่างจากการขนส่งทางสิงคโปร์เพราะเรามีท่อน้ำมันให้

ที่ผ่านมาพบว่าประเทศจีนมีความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ ทั้งยูนาน เซี่ยงไฮ้ และเมืองอื่นๆ โดยสนใจทั้งการลงทุนท่าเรือ และการขนส่งสินค้าจากคุนหมิงผ่านทางรถไฟจีนลาวมาลงที่จังหวัดหนองคาย แล้วบันทุกต่อไปยังจ.ชุมพร หรือจ.ระนอง โดยจะมีการทดลองขนส่งเพื่อดูความคุ้มค่า

ส่วนประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความสนใจ โดยมีการจ้างบริษัทเคพีเอ็มจีมาประเมินดู ส่วนประเทศอิตาลีก็มีความสนใจในด้านการดำเนินธุรกิจซ่อมเรือ รวมถึงทางตะวันออกกลางด้วย นอกจากนี้ยังมีความสนใจจากประเทศอินเดียในการตั้งโรงงานหลังท่า ซึ่งคาดว่าทางประเทศจีนก็จะมาตั้งโรงงานด้วย

โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอีวี อุตสาหกรรม AI,IOTหรืออุตสาหกรรมเพื่อการผลิตไฮโดรคาร์บอน นอกจากนี้ทั้งจ.ชุมพร จ.ระนอง หรือจ.สุราษฎร์ธานียังอาจกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงินโดยทั้งหมดนี้คือคาดการณ์ภาพรวมทั้งหมด


สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้ไทม์ไลน์แลนด์บริดจ์ที่มีล่าช้าไปจากที่กำหนด คือเรื่องของการดูแลประชาชนในพื้นที่ เช่นที่อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพรซึ่งมีการทำเกษตรในพื้นที่ และพื้นที่ชุ่มน้ำระนอง ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและให้เกียรติกันและกัน สิ่งสำคัญคือการจัดการความเรียบร้อยภายในบ้านของเราเองก่อน จากนั้นเงินลงทุนจากต่างชาติจึงจะเข้ามา ซึ่งการพัฒนาภาคใต้โดยโครงการ SEC รวมกับโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้ภาคใต้ได้ประโยชน์ มีเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศดีขึ้นไปด้วย