นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ว่า ตนในฐานนะประธานการประชุม ได้เรียกกรมบัญชีกลาง, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกว่า 20 กระทรวง เข้ามาหารือ เพื่อติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ใน 3 เรื่อง ได้แก่
ทั้งนี้ ยอมรับว่า กระทรวงหรือส่วนราชการแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ต้องดูแลหน่วยงานที่จะต้องใช้งบประมาณครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งงบโครงการต่างๆ ที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ก็กระจายไปทั่วประเทศ นั่นหมายความว่า โครงการก็มีจำนวนมาก ฉะนั้น โครงการที่ติดขัดก็ต้องมีการประสานงานกับท้องถิ่นด้วย รวมทั้งในปีงบประมาณ 2567 งบประมาณมีผลบังคับใช้ล่าช้า จึงได้ขอให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด
“ได้รับรายงานว่า ตอนนี้ส่วนราชการมีการเบิกจ่ายงบลงทุนแล้วเกือบ 40% โดยเป้าหมายของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ 21% ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยก็จะได้ตามเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งการเร่งรัดก็เป็นข้อดีทำให้มีเม็ดเงินหมุนลงเศรษฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายว่าอยากให้สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 นี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนราชการยังเหลือเวลาทำงานอยู่ 3-4 เดือน”
ทั้งนี้ คณะกรรมการยังดูเรื่องปัญหาติดขัดส่งผลให้การเบิกจ่ายอาจมีความล่าช้า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางดูแลในเรื่องนี้ เช่น การร้องเรียน การอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ให้มีการเดินหน้าการเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จะต้องยึดหลักความถูกต้อง เหมาะสม และมีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นไปตามกฎหมาย
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ที่ 21% ในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567 นี้ โดยประธานได้สั่งการให้แต่ละกระทรวงชี้แจงสาเหตุการเบิกจ่ายล่าช้า รวมทั้งกำหนดให้จัดทำแผนงานคาดว่าจะมีการผูกพันและเบิกจ่ายได้มากน้อยเพียงใด
“ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของประเทศอยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท กรมบัญชีกลางกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 21% แต่ปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งอยู่ที่ 38.6% โดยเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายล่าช้าอยู่ ในที่ประชุมก็มีการเร่งรัดในส่วนนี้”
ทั้งนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายขณะนี้จะให้ความสำคัญกับส่วนราชการ และกลุ่มจังหวัดต่างๆ ที่ยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนใหญ่กระทรวงที่ยังเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายมีอยู่ ประมาณ 10 กระทรวง โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับกระทรวงใหญ่ ที่มีโครงการใช้งบประมาณเกิน 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป โดยสั่งการให้กระทรวงเหล่านั้นกลับไปทำการบ้าน เพื่อมารายงานกรมบัญชีกลางภายใน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับกลุ่มจังหวัดทั้งหมด ขอให้กำชับและเร่งรัดการเบิกจ่าย
“ส่วนใหญ่กระทรวงเหล่านี้ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่มีการลงนามสัญญา หรือบางกลุ่มจะมีปัญหาเข้าพื้นที่ไม่ได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงการที่ขออนุมัติจากสำนักงบประมาณ และส่วนใหญ่ก็ยังมีปัญหาการติดตามผู้ว่าจ้างล่าช้า เป็นต้น ที่ประชุมจึงขอให้กระทรวงเจ้าสังกัดทั้งหลายไปเร่งรัดการเบิกจ่ายหน่วยงานที่กำกับ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย”
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า งบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 2.57 แสนล้านบาท โดยสคร. วางเป้าหมายให้เบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 95% ปัจจุบันเดือนพ.ค.67 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 51% สูงกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 38%
“ในที่ประชุม รมว.คลัง ก็ได้เร่งทุกรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกระทรวงสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระคมนาคม ซึ่ง 3 กระทรวงดังกล่าว รวมกันแล้วจะมีผลเบิกจ่ายรวม 88% ของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมด”