นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังใช้มาแล้วกว่า 5 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทบทวนกฎหมาย ว่าสมควรที่จะปรับปรุงอะไรหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ต่อการใช้กฎหมายดังกล่าว และผลการรับฟังความคิดเห็นได้จบไปเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ให้ความคิดเห็นมากว่า 500 คน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียว หรือสวนป่า จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมา
ทั้งนี้ ปัญหาที่มีการพูดถึงกันมากในการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ การตีความว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรหรือไม่ เช่น การปลูกมะนาว บนพื้นที่สีลมที่เป็นพื้นที่ที่มีราคาแพงที่สุดของประเทศ ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในการประเมินว่าพื้นที่ใดเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควร ซึ่งจะมีภาระภาษีสูงสุดตามกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
“สวนมะนาวอยู่ตรงสีลม ผมว่าไม่ใช่ และถ้ามันไม่ใช่ตามควร ก็สามารถนำสาเหตุนี้มาใช้ว่า สมควรเก็บภาษีในอัตราของที่รกร้างว่างเปล่า แทนที่จะเป็นที่อัตราภาษีดินเพื่อการเกษตร ซึ่งการใช้ดุลพินิจข้างต้น ถ้ามันจะเกิดก็คงต้องเกิดที่ กทม.กับพัทยาก่อน เพราะถือว่าเป็นท้องถิ่นที่มีพัฒนาการสูงที่สุด“
สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตรากลางที่รัฐบาลกำหนดให้ท้องถิ่นจัดเก็บ ซึ่งถือเป็นอัตราขั้นต่ำ โดยท้องถิ่นสามารถที่ปรับเพิ่มอัตราภาษีให้สูงกว่าอัตรากลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ในกฎหมายก็ได้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนมีความกล้าหาญในการจัดเก็บเพิ่ม เพราะอยากได้เงินมาเพื่อทำโครงการพัฒนาในท้องถิ่น เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน สามารถขึ้นอัตราได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ต้องการปล่อยให้ที่ดินของตนเองเป็นที่รกร้างว่างเปล่า อาจปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะ และเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งท่านจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายด้วย
ขณะเดียวกัน กรณีเจ้าของที่ดินรายใด ไม่ต้องการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะใช้วิธีการยกประโยชน์ที่ดินแปลงนั้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ เพื่อลดภาษีได้ แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวจะต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน จึงจะได้รับการยกเว้นภาษี