KEY
POINTS
จุดยืนของประเทศไทยให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ ในโลกผ่านกรอบความร่วมมือ ทั้งกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ BRICS ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นผู้นำ ซึ่งไทยก็เพิ่งยืนยันเจตจำนงสมัครสมาชิกกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญเเละน่าจับตา
ล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือ นายเมารู ลุยช์ อีเยกแกร์ วีเยย์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิล ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการสนับสนุนระบบพหุภาคี และมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การค้า การลงทุน พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานชีวภาพ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร และการท่องเที่ยว ในโอกาสนี้ ฝ่ายบราซิลได้สนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยด้วย
รัฐมนตรีฯ ย้ำความสำคัญของ BRICS ในการส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบระบบพหุภาคี ซึ่งไทยสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับความร่วมมือของ BRICS โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง BRICS กับกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิกได้
กลุ่ม "BRICS" ปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ กำลังมีบทบาทในการสร้างระเบียบโลกใหม่ เเละถูกมองว่าเป็นการคานอำนาจกับขั้วเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก
BRICS ก่อตั้งขึ้นจากสมาชิก 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC เป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อต้นปีนี้ได้รับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศ คือ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัฐสมาชิกจะยึดหลักความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน
ความน่าสนใจของกลุ่มบริกส์อยู่ที่การรวมตัวของประเทศมหาอำนาจ พร้อมฐานประชากรมหาศาลที่จะช่วยเสริมพลังทางเศรษฐกิจ
BRICS มีประชากรคิดเป็น 37% ของประชากรโลก ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนประชากรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะถ้านำไปรวมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ขนาดเศรษฐกิจ, พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มนี้มีทั้งตลาดผู้บริโภค และฐานการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRICS มีการถูกนำมาเปรียบเทียบคู่แข่งขันอย่างกลุ่ม G7 ซึ่งมีสมาชิกเป็นชาติมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ อย่าง แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรสหรัฐฯ
เทียบขุมกำลัง BRICS vs G7
G7 สมาชิก Top 10 ประเทศที่มี GDP สูงสุดในโลก หากรวม GDP แล้วสูงถึง 45.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 43% ของเศรษฐกิจโลก หลักๆ มาจากสหรัฐฯ มี GDP ถึง 28.6 ล้านล้านดอลลาร์
BRICS มี GDP รวมอยู่ที่ 29 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,053.57 ล้านล้านบาท หรือ 27.94% ของเศรษฐกิจโลก นำโดยจีน (19.3 ล้านล้านดอลลาร์) และอินเดีย (3.7 ล้านล้านดอลลาร์)
ส่วนสมาชิก อย่าง อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ล้วนเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ โดยผลิตน้ำมันดิบประมาณ 44% ของกำลังการผลิตทั่วโลก
ในแง่ของ GDP รวม BRICS ยังตามหลัง G7 เเต่กลุ่ม BRICS ก็กำลังตามหลังมาติดๆ รวมทั้งยังท้าทายกฎเกณฑ์เดิมๆ เช่น การลดพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มาของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น สงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อจีนและรัสเซีย นำไปสู่การจัดตั้ง สถาบันการเงินใหม่อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank / NDB) มีระบบชำระและโอนย้ายเงินข้ามประเทศ สุดท้าย หวังจะมี "เงินบริกส์" เป็นของตัวเอง
ผลดีของ สกุลเงิน BRICS ต่อประเทศสมาชิก
เพิ่มความแข็งแกร่ง ด้วยอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ลดอิทธิพลต่อการค้าระหว่างประเทศกลุ่ม BRICS จากเงินดอลลาร์ เพิ่มอิทธิพลกลุ่ม BRICS ในระดับโลก โดยการชวนประเทศอื่นมาใช้เงินสกุลใหม่นี้
ผลกระทบต่อเงินดอลลาร์
ปัจจุบันเงินดอลลาร์ถูกใช้ในการค้าระหว่างประเทศราว 74% มีสัดส่วนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราถึง 90% และถูกใช้ซื้อขายน้ำมันดิบเกือบ 100% นอกจากนี้กว่า 60% ของเงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกยังเป็นในสกุลเงินดอลลาร์
สกุลเงิน BRICS แต่จะค่อยๆ ลดอิทธิพลของดอลลาร์ สร้างทางเลือกใหม่ในระบบการเงินโลก และอาจเปลี่ยนดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นักวิเคราะห์มองว่า เงินสกุลใหม่ของ BRICS มีความน่าสนใจ เนื่องจากใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สอดคล้องในปีที่ผ่านมามีการสะสมทองคำสำรองเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง จีนซื้อทองคำเพิ่มมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ปีนี้จะจัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเชิญประเทศที่ยังไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วย
ที่มาข้อมูล