"ไอออน เอนเนอร์ยี่" ชู 2 โมเดลสร้างธุรกิจ แนะ "SMEs" สร้างความแตกต่าง

13 มิ.ย. 2567 | 09:14 น.

"ไอออน เอนเนอร์ยี่" ชู 2 โมเดลสร้างธุรกิจ แนะ "SMEs" สร้างความแตกต่าง ชี้ธุรกิจกลุ่มพลังงานเป็นธุรกิจที่มีแต่ผู้เล่นขนาดใหญ่ เรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นายพีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนา SMART SME 2024 “EMPOWERING THE NEXT WAVE” ในหัวข้อ "ถอดบทเรียน SME ปรับตัวรับโลกยุคใหม่" ซึ่งจัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า บริษัทแบ่งโมเดลการทำงานใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 

โมเดลลงทุน ซึ่งภาพรวมบริษัทได้ขยายตลาดเพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่มมากขึ้น โดยมองว่าโจทย์สำคัญคือต้องการทำให้โซลาร์เซลล์เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกกลุ่มทั้งลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) หรือองค์กรต่างๆ รวมถึงโรงงาน โรงเรียน หรือโรงแรม


 

ซึ่งบริษัทมีโมเดลโซลาร์ PPA นั่นก็คือคุณไม่ต้องลงทุนหลายสิบล้านบาทเพื่อติดตั้งโซลาร์ บริษัทจะลงทุนติดตั้งให้ฟรี เพียงแต่ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ต่ำกว่าค่าไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คิดว่า ในฐานะธุรกิจ SMEs ต้องการจะแก้ปัญหา (pain point) ของธุรกิจอื่นที่ต้องการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ แต่อาจไม่ได้ต้องการใช้เงินทุนในส่วนนี้

โมเดล EPC รับเหมาฯ ออกแบบ ติดตั้ง และดูแลรักษาอุปกรณ์ให้กับลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งการติดตั้งในโครงการบ้านเดี่ยวหลายพันหลังคาต่อปี หลากหลายแบรนด์ รวมถึงธนาคารต่างๆ ทั้งออมสิน ,กสิกรไทย ฯลฯ และขยายติดตั้งให้กับ SCGP เป็นต้น

นอกจากนี้ ในฐานะธุรกิจ SMEs หากบริษัททำแค่โมเดลปกติก็จะคล้ายกับผู้อื่น อุปกรณ์ก็ไม่ได้ผลิตเอง ดังนั้นสิ่งที่ทำเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างขึ้นมา นั่นก็คือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นของไอออน นี่คือคนไทยพัฒนาเอง สามารถดาวน์โหลดแอพฯได้ทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อตรวจสอบผลผลิตการใขช้พลังงานทั้งจาก กฟผ. ,โซลาร์ และในอนาคตถ้ามีแบตเตอร์รี่ รวมถึงการขายคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ดี ธุรกิจกลุ่มพลังงานเป็นธุรกิจที่มีแต่ผู้เล่นขนาดใหญ่ เรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอุปกรณ์โซลาร์ฯต้องอยู่ไปอีก 25-30 ปี ช่วงแรกของการทำการตลาดถือว่ายากมาก จึงหาพาร์ทเนอร์และผู้ร่วมทุนที่มีชื่อเสียง มีเน็ตเวิร์ค มีซินเนอร์ยีร่วมกันได้