"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจฐานราก-ลดต้นทุน "SMEs"

12 มิ.ย. 2567 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 13:02 น.

ส"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจฐานราก-ลดต้นทุน "SMEs" พร้อมเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถ แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบอุปสรรค ที่ยังเป็นปัญหา และหาแหล่งต้นทุนต่ำช่วยสภาพคล่อง 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยในงาน "SMART SME 2024 “EMPOWERING THE NEXT WAVE” ในหัวข้อ "ถอดบทเรียน SME ปรับตัวรับโลกยุคใหม่" ซึ่งจัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจนอกระบบเกือบครึ่ง โดยไทยอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน อันดับ 15 ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย

ทั้งนี้ ภาครัฐ เอกชน ควรผลักดันเศรษฐกิจ แรงงานนอกระบบ มีมาตรการแรงจูงใจ ให้เข้ามาสู่ในระบบ ผู้ประกอบการทั้งประเทศ และเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ผู้ประกอบการรายย่อยมีถึง 85% จากทั้งประเทศ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้เป็นตัวชี้วัด โดยแรงงาน 5.5 ล้าน ผู้ประกอบการ 2.6 ล้าน จะต้องพัฒนาขีดความสามารถ 

"ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว มีเงินกินปลาก็หมด แต่ถ้ารู้วิธีจับปลา จะหาปลาได้ทั้งชีวิต  เมื่อมองเอสเอ็มอีทั้งโลกจะพบว่าของไทย มีสัดส่วนจีดีพีที่ต่ำ สิ่งที่เป็นกับดักคือ ไมโครเอสเอ็มอี มีสัดส่วนเพียง 3% ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก แต่จนแบบแออัด" 

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะรัฐปลุกเศรษฐกิจฐานราก-ลดต้นทุน "SMEs"

ด้านการส่งออกนั้น มีเอสเอ็มอีส่งออก 2.2 หมื่นราย โดยเอสเอ็มอีภาคการผลิตยังอยู่ในระบบ 1.0 อยู่จำนวนมาก ดังนั้น กลไกลภาครัฐต้องมาช่วยเรื่องนี้ด้วย สิ่งสำคัญของวันนี้เป็นผลจากอดีต ที่เจอปัญหาจากการศึกษา แรงงานทั้งในและนอกระบบ มีการศึกษาชั้นประถมมากกว่า 15 ล้านคน ดังนั้นต้อง อัพสกิล ให้มีภูมิต้านทานอยู่ต่อไปได้ 

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญ 5 เรื่อง ที่ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ประกอบด้วย 

  • ปลุกเศรษฐกิจฐานราก เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น  
  • มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุนเอสเอ็มอี 
  • มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเอสเอ็มอี 
  • มาตรการยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน 
  • มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบอุปสรรค ที่ยังเป็นปัญหากับเอสเอ็มอี 

“ต้องสร้างคนไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ได้แข่งขันกับคนในประเทศ แต่แข่งขันกับคนทั้งโลก คนเป็นสิ่งสำคัญซึ่งต้องทำให้เกิดความแข็งแรง ทำอย่างไรที่จะทำให้ ภาครัฐ ผู้ออกนโยบาย ผู้ประกอบการ ภาคแรงงาน มีความแข็งแรงไปพร้อมกัน”