จับตา บอร์ดสภาพัฒน์ ป้ายแดง ดันงบรัฐวิสาหกิจแสนล้าน ประคองศก.

07 มิ.ย. 2567 | 23:53 น.

จับตา บอร์ดสภาพัฒน์ ป้ายแดง ภายใต้ประธานสภาฯ คนใหม่ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ภารกิจหลักขับเคลื่อนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 46 แห่งภายใต้สังกัด 15 กระทรวง นับแสนล้านบาท ประคับประคองเศรษฐกิจ

ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 มิถุนายน 25467 เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” เป็นประธานสภาฯ คนใหม่ พร้อมทั้งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ 11 ราย เพื่อแทนบอร์ดชุดเดิมที่หมดวาระลงไปก่อนหน้านี้

สำหรับโครงสร้างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดใหม่นั้น ประกอบไปด้วย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาฯ ส่วนกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มีรายชื่อดังนี้ 

  • นายกงกฤช หิรัญกิจ
  • นายกฤษณะ วจีไกรลาศ
  • คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
  • นายปิยะมิตร ศรีธรา
  • นายวิษณุ อรรถวานิช
  • นางสาวรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
  • นายสมประวิณ มันประเสริฐ
  • นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล
  • นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล
  • นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ

ขณะเดียวกันยังมีกรรมการสภาโดยตำแหน่ง 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

โดยเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ 
ทั้งนี้ ประธานสภา หรือกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งหลังจากพ้นตำแหน่งแล้วอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ ไม่ได้
กรอบอำนาจหน้าที่ของสภาฯ

ส่วนกรอบอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ดังนี้

  • กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศและของโลก รวมทั้งจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • เสนอแนะ ให้คำปรึกษา และให้ความเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ ต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
  • เสนอแนะ ให้คำปรึกษา และให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการพัฒนาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
  • พิจารณาข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด สำหรับสินทรัพย์ถาวรที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการนี้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย
  • เชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็น หรือคำแนะนำได้เมื่อเห็นสมควร

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลด้านกรอบอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยงานด้านหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ การมีอำนาจในการพิจารณาข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ใช่บริษัทมหาชนจำกัด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการสำคัญ ๆ เสนอเข้ามายังที่ประชุมเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการแล้วหลายโครงการด้วยกัน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ผ่านมาในการพิจารณาโครงการของรัฐวิสาหกิจนั้น ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่จำเป็นต้องเสนอเข้ามาให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบ โดยที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 46 แห่งภายใต้สังกัด 15 กระทรวง (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจประเภท บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทและบริษัทมหาชนจำกัด สถาบันการเงิน และ และธุรกิจประกันภัย) 

ทั้งหมดได้เสนองบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2567 ให้ สศช. พิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ภายใต้ พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยสภาฯ ได้เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีวงเงินดำเนินการรวม 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนรวม 258,985 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2568- 2570 ของรัฐวิสาหกิจ ประเมินว่า จะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท