ผลกระทบจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 บังคับใช้ล่าช้ากว่า 6 เดือน โดยประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่ามา ทำให้ขณะนี้เหลือเวลาเบิกจ่ายงบประมาณเพียง 4 เดือนเท่านั้น
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ที่ผ่านมา ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายพิชัย ชุณวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 โดยตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ 70 % เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ GDP ปี 2567 ขยายตัว 3 %
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 67 และแผนรับมือหากใช้จ่ายลงทุนไม่ทัน
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เริ่มต้นจากการอธิบายให้เกิดความเข้าใจของคำว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ ว่า แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ "ผลการเบิกจ่าย" หมายถึง เงินที่เบิกจ่ายออกจากคลัง กับ "ผลการใช้จ่าย" หมายถึงการทำ PO (มีการลงนามในสัญญาแล้ว) กับการเบิกจ่ายรวมกัน
“เฉลิมพล” ฉายภาพรวม “ผลการใช้จ่าย” งบประมาณปี 67 วงเงิน 3.480 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ได้จัดสรรไปแล้ว 3.362 ล้านล้านบาท มีผลการใช้จ่ายจำนวน 2.501 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 71.87 % สูงกว่าเป้าหมาย จำนวน 1.695 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ จำนวน 2.218 ล้านล้านบาท "ไม่ติดขัด" และสูงกว่าเป้าหมาย จำนวน 2.163 แสนล้านบาท
“แต่การเบิกจ่ายรายจ่ายงบลงทุน จำนวน 2.823 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 6.747 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่า ณ เวลาเดียวกันของปีปกติที่ผ่านมา"
รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายประกาศให้เริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่งบประมาณผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณก่อหน้าผูกพันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 และขอให้หน่วยงานจากส่วนกลางจัดสรรลงพื้นที่ โดยร่นระยะเวลาจากเดิม 15 วัน เหลือ 5 วัน
“ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนที่ 20” จำนแนก-แจกแจงรายจ่ายงบลงทุน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก รายจ่ายลงทุนที่จ่ายได้ทันที หรือ งบลงทุนที่ "ผูกพันตามสัญญาเดิม" ซึ่งจ่ายตามงวดงานปกติ
ส่วนที่สอง งบลงทุน "รายจ่ายผูกพันใหม่" ซึ่งในปี 67 คาดการณ์ว่าจะก่อหนี้ผูกพันล่าช้าและใช้จ่ายไม่ทันในปีงบประมาณ 67 เพราะตามกฎหมายต้องตั้งรายการผูกพันใหม่ไม่น้อยกว่าร้อย 20 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย
"แต่ในปี 67 สำนักงบประมาณให้ตั้งจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ15 ในปีแรก เพื่อให้ประกวดราคาเสร็จแล้วเงินออกได้ทันที"
ยกตัวอย่างเช่น กรมทางหลวง กรมชลประทาน กระทรวงสาธารณสุข ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณก็ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการพิจารณาค่างานให้เร็วตามเกณฑ์และระเบียบ และเร่งอนุมัติต่อความเห็นชอบความเหมาะสมของราคาไปแล้ว ร่นระยะเวลาให้เร่งทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะเมื่อเซ็นสัญญาเงินจ่ายทันที 15 % ทำให้ไม่มีเงินค้าง
ดังนั้น รายการผูกพันตามสัญญาเดิม "ไม่น่าจะมีปัญหา" ถ้าหน่วยงานทำงานไม่ติดขัดอะไรก็เบิกจ่ายได้ตามงวดงาน ส่วนรายจ่ายผูกพันใหม่ ถ้าก่อหนี้ผูกพันได้ในปีงบประมาณนี้ ที่ตั้งงบประมาณไว้เบิกหมดแน่นอน เพราะ 15 % ต้องจ่าย
“ส่วนที่สาม รายจ่ายลงทุนใหม่รายการปีเดียว น่าเป็นห่วง ซึ่งในการประชุมครม.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาล โดยท่านนายกฯ กำลังเร่งรัดและสั่งการในที่ประชุมไปแล้วให้รัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อที่จะให้มีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว”
ต้องขอความร่วมมือให้เร่งเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วที่สุด เพราะถ้าหน่วยงานต่าง ๆ มีความเคร่งครัดตามที่กระทรวงการคลังกำชับไปว่า ให้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ผ่านกรรมาธิการ ถ้าทำตอนนั้น 1 พฤษภาคมจะเซ็นสัญญาได้เกือบทั้งหมด ต้องขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปีนี้หรือปีต่อ ๆ ไป ผลเบิกจ่ายจะเร็วและมีประสิทธิภาพ
“ปัญหาอีกประการ คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อประกาศประกวดราคาแล้ว ได้ผู้ชนะ มีการอุทธรณ์ ปลัดกระทรางการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้นิ่งนอนใจและทราบปัญหา จึงมีนโยบายไปแล้วว่า การพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง ต้องใช้เวลาให้เร็ว คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะปีงบประมาณ 67”
สำหรับรายจ่ายลงทุนใหม่โครงการปีเดียวมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น งบลงทุน จำนวน 291,395 ล้านบาท และเงินอุดหนุนท้องถิ่น จำนวน 44,702 ล้านบาท
“ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ผลการใช้จ่ายโครงการลงทุนปีเดียว จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท คงเหลืออยู่ 2.19 แสนล้านบาท ขณะที่เงินอุดหนุนท้องถิ่นเฉพาะกิจ คงเหลือยังไม่ได้เบิกจ่าย 4.4 หมื่นล้านบาท รวมแล้วงบลงทุนรายจ่ายปีเดียว คงเหลือยังไม่ได้เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท หากเร่งรัดให้เข้าสู่กระบวนการก่อหนี้ผูกพันและใช้จ่ายงบประมาณได้”
“เฉลิมพล” เตรียมแผนตั้งรับกรณีท้ายที่สุดหน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายไม่ทัน โดยให้เร่งมาหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด โดยการปรับแผนไปทำโครงการที่มีความพร้อมและสามารถทำได้เร็ว เช่น ลักษณะงานของกรมทางหลวง หรือ “งานดำเนินการเอง” สามารถทำได้ทันที เพราะไม่ต้องประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง
โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของหน่วยงานนั้นว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงงานของ “กรมชลประทาน” เพื่อนำเม็ดเงินไปซื้อวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ แต่จะโยกข้ามกระทรวง ข้ามกรมไม่ได้ ยกเว้นกรณีงบบุคลากร หรือ แผนบูรณาโยกงบข้ามกระทรวง ข้ามกรมได้