นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากผลกระทบของโควิด หรือรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 ล้านราย ซึ่งตามเงื่อนไขของเครดิตบูโรแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะหลุดจากบัญชีเครดิตบูโร ภายในปีหน้า แต่รัฐบาลก็อยากจะร่นระยะเวลาดังกล่าวให้เร็วขึ้น เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้ สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น
”กระทรวงการคลัง จะมีการหารือธปท. และเครดิตบูโร เพื่อหาแนวทางช่วยลดหนี้ NPL จากผลกระทบของโควิด หรือลูกหนี้รหัส 21 ให้สามารถหลุดจากติดแบล็คลิสต์ (Black List) ได้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง“
ทั้งนี้ ในเงื่อนไขของเครดิตบูโร กรณีลูกหนี้สถาบันการเงิน กลายเป็น NPL หรือค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะต้องอยู่ในบัญชีของเครดิตบูโร Black list มีอายุความนาน 5 ปี และหลังจากนั้นเมื่อหลุดจาก black list แล้ว ข้อมูลของลูกค้าดังกล่าว ก็ยังจะต้องถูกจัดเก็บประวัติในเครดิตบูโรอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี
“ระยะเวลาที่ลูกหนี้ NPL ที่อยู่ในเครดิตบูโรนานถึง 8 ปีถือว่ายาวนานเกินไป เราจึงมีแนวคิดมี่จะเข้าไปดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานะ black list จาก 8 ปี เหลือ มีอายุความ 3 ปี และเก็บประวัติไว้3 ปี ซึ่งการที่รัฐเข้ามาช่วยลูกหนี้ NPL รหัส 21 ดังกล่าวไม่น่าจะถูกมองว่าเสียวินัย เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด“
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เครดิตบูโร ได้เคยให้ความเห็นถึงลูกหนี้รหัส 21 ว่า แม้ว่าจะสามารถปลดล็อคลูกหนี้เหล่านั้นออกจากบัญชีของเครดิตบูโรได้ แต่การให้ลูกหนี้เหล่านั้นสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินก็ไม่ง่าย เนื่องจากสถาบันการเงินมีกติกาการปล่อยสินเชื่อที่ค่อนข้างเข้มงวด