ศิริกัญญา จับพิรุธ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซุกงบกลาง-หมกเม็ดรายจ่ายลงทุน

19 มิ.ย. 2567 | 08:20 น.

ศิริกัญญา จับพิรุธ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซุกงบกลาง-หมกเม็ดรายจ่ายลงทุน ใช้งบกลางปี 67 เหลื่อมปี ส่อขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2 มาตรา เรียกร้อง ข้าราชการท้วงติง เป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนจะสายเกินไป

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบกลาง ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ หรือ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” วงเงิน 152,700 ล้านบาท ว่า สัดส่วนรายจ่ายลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีของรัฐบาล หรือ 24 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดี 

“อย่าเพิ่งดีใจไป ที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงขนาดนี้ เพราะว่าไปรวมงบเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีการตีความว่า 80 % เป็นสิ่งที่เรียกว่า รายจ่ายลงทุน ขุ่นพระ เป็นได้อย่างไร และถ้าตัดออกไป รายง่ายลงทุนจะคิดเพียงแค่ 20.8 %”   

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากจะยัดงบดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป 80 % เพื่อทำให้รายจ่ายลงทุนดูโป่ง ดูดี รัฐบาลอาจจะไปจงใจตัดงบรายจ่ายประจำบางตัว เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรายจ่ายลงทุน เพราะมีรายจ่ายประจำหลายตัวที่จำเป็น แต่ได้งบต่ำกว่าที่ต้องใช้รวมแล้ว 1.67 แสนล้านบาท สมมุติว่ารายจ่ายประจำเหล่านี้ได้งบเต็มจำนวน รายจ่ายลงทุนจริง ๆ จะเหลือแค่ 16.4 % เท่านั้น 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตัวแรก เยอะสุด ได้รับงบชำระดอกเบี้ยขาดไปเกือบ 9 หมื่นล้านบาท บำนาญข้าราชการขาดไป 3.8 หมื่นล้านบาท งบรักษาพยาบาลขาด 6.7 พันล้านบาท ค่าชดเชยผู้ประกอบการตามมาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวีขาด 1.7 หมื่นล้านบาท กองทุนประชารัฐขาด 5 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัญหาทันทีถ้าเราจำเป็นต้องใช้เงินทั้งหมดนี้ สัดส่วนงบลงทุนจะเปลี่ยนไปทันทีและอาจลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น  

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรายังต้องลุ้นต่อไปว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือจะได้ทำหรือเปล่า เพราะพบว่างบกลาง โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 157,200 ล้านบาท เป็นการกู้เต็มจำนวน ไม่มีการบริหารจัดการ และไปตัดลดงบที่จำเป็น และแทนที่จะไปตั้งโครงการใหม่ ใส่ไว้ในหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหรือรับผิดชอบ กลับเพิ่มรายการใหม่ขึ้นมาในงบกลาง

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า คิดได้ 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง หาทางหนีทีไล่ไว้ กรณีท้ายที่สุดไม่ได้ทำ ก็จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ง่ายขึ้น สอง ไม่ได้ใส่ไว้ใน เงินสำรองจ่าย ฉุกเฉิน จำเป็น เพราะถ้าใส่จะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ไม่ให้เกิน 3.5 % สาม หาเจ้าภาพไม่ได้ แปะลอยไว้ก่อน  

“การเอาไปใช้งบกลางแบบนี้ อาจผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 22 หรือไม่ เพราะงบกลางตั้งได้เฉพาะกรณีที่ไม่ควร หรือ ไม่อาจจัดสรรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้”

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการไหลย้อนกลับ ไปกู้ในงบปี 67 อีก 1.12 แสนล้านบาท ถ้าเอางบ 67 มาใช้ในปี 68 จะนำมาใช้ในฐานะงบผูกพันได้จริงหรือไม่ ในเมื่อพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 21 การจัดงบเพิ่มเติมจะทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นต้องใช้เงินระหว่างปีและไม่อาจรองบประมาณปีถัดไปได้ 

“การกันงบปี 67 แล้วไปเบิกเหลื่อมปี 68 จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการก่อหนี้ผูกพันสัญญากันเอาไว้แล้ว จะอ้างว่าให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนภายในเดือนกันยายน หรือ ก่อนหมดปีงบประมาณปี 67 เป็นการผูกพันสัญญาได้จริงหรือ แค่ให้ประชาชนมาลงทะเบียนคือการก่อหนี้ผูกพันสัญญาแล้ว ไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เอาประเทศไปเดิมพัน ท่านยังเอาข้าราชการประจำไปเสี่ยงกับท่านด้วย”

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนเงินจากธ.ก.ส.ตกลงว่าจะใช้ได้หรือไม่ได้ จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของธ.ก.ส.หรือไม่ จนถึงตอนนี้ยังไม่ส่งให้กฤษฎีกาตีความ หรือแม้กระทั่งจะเอาเข้าบอร์ดธ.ก.ส.ยังไม่ได้เอาเข้า

“ดิฉันขอจบเรื่องนี้ ด้วยการฝากท่านประธานไปยังข้าราชการประจำทุกท่าน ทั้งที่อยู่ที่นี่ และที่อยู่ทั่วประเทศที่ยังซื่อตรงต่อหลักการ หลักวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมา หากท่านพบว่ามันมีความผิดปกติ ขอให้ส่งหนังสือท้วงติงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อความไม่ชอบมาพากล ทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งด้วยหลักวิชาการ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”