"ดีพร้อม" ดันวัสดุท้องถิ่นต่อยอดสินค้าสร้างสรรค์มูลค่าสูง ดันศก.โต 100 ล.

20 มิ.ย. 2567 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2567 | 02:58 น.

"ดีพร้อม" ดันวัสดุท้องถิ่นต่อยอดสินค้าสร้างสรรค์มูลค่าสูง ดันศก.โต 100 ล. เดินหน้ารเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผ่านภูมิปัญญาและนวัตกรรมสรรสร้างสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ท้าทายโดยใช้วัสดุท้องถิ่นใหม่

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการวัสดุสร้างสรรค์ใหม่ผ่านภูมิปัญญาและนวัตกรรมสรรสร้างสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ท้าทายโดยใช้วัสดุท้องถิ่นใหม่ ๆ (Unlock Materials) เช่น บีนแบคไม้หุ้มด้วยนวัตกรรมการเคลือบผิวผักตบชวาสาน แผ่นวัสดุตกแต่งผนังด้วยนวัตกรรมสร้างสมดุลธรรมชาติร่วมกับเส้นใยเห็ด 

และแผ่นจากวัสดุ cement เสริมแร่ธาตุสำหรับปลูกพืชแบบไร้ดิน ผ่านกิจกรรมเปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (The Unlock Materials Design 2024) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด การสร้างสรรค์ผลงานในบริบทใหม่ หรือ From Local to Luxury
 

ทั้งนี้ ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Soft power ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม

"ดีพร้อม" ดันวัสดุท้องถิ่นต่อยอดสินค้าสร้างสรรค์มูลค่าสูง ดันศก.โต 100 ล.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจไทยในการทำงานเชิงพัฒนาสร้างสรรค์ในด้านวัสดุ และกระบวนการผลิต จากท้องถิ่นสู่การพัฒนาให้เป็นวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากลในที่สุด 

นางดวงดาว กล่าวต่อว่า ดีพร้อมดำเนินนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการสร้างเครือข่าย
 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ได้นำผลงานจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นมาจัดแสดงนิทรรศการเปิดโลกวัสดุใหม่ เปลี่ยนรูปวัสดุเดิม รวมถึงเปิดพื้นที่ทดสอบตลาดไอเดียสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 30 บูธ เพื่อแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับพัฒนาต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์วัสดุท้องถิ่น และเห็นถึงผลสำเร็จจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน อาทิ นักออกแบบ ผู้ประกอบการ 

และผู้เชี่ยวชาญและวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันผลักดันและขยายผลของทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงภาคท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน โดยการจัดงกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท