“จุลพันธ์” ยัน กยศ. ไม่ถังแตก ของบ 68 ครั้งแรกรอบหลายสิบปี 800 ล้าน

20 มิ.ย. 2567 | 04:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2567 | 04:42 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ยืนยัน กยศ. ไม่ถังแตก ขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีกว่า 800 ล้านบาท ยืนยันยังมีสภาพคล่อง อีกส่วนมาจากการปรับแก้กฎหมายต้องคินเงินอีกกว่าพันล้านบาท

วันนี้ (20 มิถุนายน 2567) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 กรณีการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย รายการทุนหมุนเวียน ให้กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) วงเงิน 800 ล้านบาท 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า งบประมาณของ กยศ. ที่เสนอขอรับการจัดสรรเข้ามาในปี 2568 วงเงิน 800 ล้านบาท ยอมรับว่าเป็นคำขอที่เสนอเข้ามาครั้งแรกในรอบหลายปี โดย กยศ. เสนอคำขอรับการจัดสรรเข้ามากว่า 19,000 ล้านบาท แต่เมื่อได้หารือกับทางสำนักงบประมาณ ก็เห็นว่า กยศ. สามารถบริหารจัดการเงินให้อยู่ภายในกรอบเงินที่ยังเหลืออยู่ในกองทุน รวมทั้งยังมีเงินที่ได้รับจากการชำระหนี้ของนักเรียนนักศึกษาที่จบไปแล้วเข้ามา จึงได้เห็นชอบการจัดสรรวงเงินให้ 800 ล้านบาท 

สำหรับเหตุผลสำคัญของการเสนอของบประมาณของกยศ.ครั้งนี้ ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับแก้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ทำให้ กยศ. มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินค้างเป็นหลักพันล้านบาท

“การปรับแก้ พรบ.กยศ. ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ถือเป็นช่วงที่ กยศ. ปรับตัวเข้ากฎหมายใหม่ โดยลดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้จาก 18% เหลือ 0.5% ห้ามฟ้อง และให้เอาคนค้ำประกันออก โดยให้คิดย้อนหลังตั้งแต่วันแรกที่กู้ไปจนถึงวันสุดท้ายที่ใช้เงิน ทำให้ตอนนี้กยศ.ยังค้างเงินเป็นพันล้านบาท ที่ลูกหนี้จ่ายเกินมา แต่ทั้งหมดยอมรับว่า ยังอยู่ในการบริหารจัดการการเงินที่ กยศ.บริหารจัดการได้”

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการเสนอของบประมาณเข้ามา และถูกตัดเหลือ 800 ล้านบาทนั้น เห็นว่า รัฐบาลมีกลไกที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยยังมีช่องทางอื่นที่สามารถจัดสรรเงินลงไปให้ กยศ. ได้ในกรณีของงบประมาณที่ไม่เพียงพอ เช่น การจัดสรรงบกลาง หรือกลไกอื่น ๆ มารองรับ เพื่อไม่ให้นักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถกู้ยืมเงินจาก กยศ. โดยในปี 2568 กยศ.ได้ตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ยืมไว้กว่า 6.2 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นผู้กู้เดิมประมาณ 75%

“ด้วยงบประมาณแค่นี้ ถึงแม้ว่าจะดูตึงตัว แต่ถ้าไปนั่งคำนวณดู การจัดสรรเราจัดเพียงพอดี ไม่มีถมเงินไปที่กองทุนใดกองทุนหนึ่งแล้วให้กองทุนนั้นเหลือเงินเป็นพันเป็นหมื่น เราจะไม่ทำ เพราะงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงที่สุด” 

ทั้งนี้ยอมรับว่า การบริการจัดการของ กยศ. ในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหา Moral Hazard ขึ้นเล็ก ๆ เพราะลูกหนี้ของกยศ. ส่วนใหญ่ จะเลือกชำระหนี้ กยศ. เป็นเป้าหมายสุดท้าย เพราะไม่ถูกฟ้อง ไม่มีคนค้ำประกัน และมีดอกเบี้ยที่ถูกเมื่อเทียบกับหนี้สินด้านอื่น ทั้งหนี้บัตรเครดิต และหนี้บ้าน ดังนั้นจึงเลือกชำหนี้ในส่วนนี้ก่อน ทำให้ กยศ. เกิดปัญหาในการบริหารจัดการพอสมควร

รมช. คลัง ยอมรับว่า ล่าสุดได้มอบนโยบายกับ กยศ. แล้ว โดยให้เร่งหาแรงจูงใจในการดึงลูกหนี้เข้ามาชำระหนี้ กยศ. เช่น หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยถ้าเป็นลูกหนี้ กยศ. ที่มีผลการชำระดี ก็ให้กู้เงินจากธนาคารนั้น ๆ ได้งายขึ้น มากขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน

อย่างไรก็ตาม ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบรายละเอียดของการขอรับการจัดสรรงบประมาณของ กยศ. จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายปี 2568 รายการทุนหมุนเวียน กยศ. กำหนดวงเงินงบประมาณในปี 2568 ไว้ 2 แหล่ง คือ 

  • งบประมาณรายจ่าย วงเงิน 800 ล้านบาท
  • เงินนอกงบประมาณ 42,987 ล้านบาท (เป็นเงินนอกงบประมาณเฉพาะที่นำมาสมทบกับงบประมาณรายจ่าย)

โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 800 ล้านบาท กยศ. ได้กำหนดเอาไว้ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม โดยประเมินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ย้มเงินมีโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มีตัวชี้วัดคือ จำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงิน จำนวน 620,296 คน