สนค. ชี้ธุรกิจบริการอาหารโตต่อเนื่อง รับแรงหนุนการท่องเที่ยวฟื้นตัว

20 มิ.ย. 2567 | 05:21 น.
อัพเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2567 | 06:30 น.

สนค. เผยแนวโน้มธุรกิจด้านอาหารของประเทศไทยปี 67 เติบโตต่อเนื่อง ได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงนโยบาย Soft Power ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่าน Delivery จะลดลง 3.7% จากปี 66 เพราะประชาชนหันกลับมาทำงานเต็มสัปดาห์

สำนักงานส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า  ธุรกิจบริการด้านอาหารถือว่าเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคบริการของไทยให้เติบโต พร้อมกับการท่องเที่ยว ทั้งในด้านของมูลค่าการพัฒนาเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ ประกอบการ SMEs ปรับตัวและมีโอกาสในการขยายธุรกิจ

ในปี 2566 ตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยมีมูลค่า 27,533.2 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่ามูลค่าการขายในช่วงปี 2566-2571 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.72 โดยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งการทำงานในที่ทำงาน การเพิ่มขึ้นของการเดินทาง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตจะชะลอตัว นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าการแข่งขันในตลาดธุรกิจบริการอาหารจะเข้มข้นขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มธุรกิจบริการด้านอาหาร

ในปี 2567 คาดว่าตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและการสนับสนุนนโยบาย soft power อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มธุรกิจบริการด้านอาหาร อาทิ แนวโน้มต้นทุนของวัตถุดิบในการประกอบอาหารผันผวน กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง ปัจจัยสนับสนุนการเติบโต การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจบริการด้านอาหาร

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) คาดการณ์ว่าในปี 2567 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ ประมาณ 1.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านล้านบาทในปี 2566 โดยในปี 2567 คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังไทย 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคนในปี 2566 รวมทั้งมีปัจจัยบวก ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2-3  ซึ่งความต้องการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจบริการด้านอาหารจำนวนนิติบุคคลธุรกิจบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2567 ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือ Food Delivery น่าจะลดลงประมาณร้อยละ 3.7 จากปี 2566 เนื่องจากการกลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ และราคาอาหารเฉลี่ยในแอปพลิเคชันที่สูง โดยมูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 1.0 จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 2.8 จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่งอาหาร

ส่วนความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยบริษัทวิจัยตลาด Future Market Insights (FMI) ได้รายงานว่า ในปี 2566 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 999,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าในปี 2576 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 10 ปี (ปี 2566-2576) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.20

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านอาหารและเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ โดยในปี 2567 TripAdvisor เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวได้จัดอันดับให้ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางอาหาร (Best Food Destination) อันดับที่ 10 และ 17 การส่งเสริมนโยบาย Soft Power ของไทย ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศผ่านทางเอกลักษณ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านและนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ของไทย

โดยมีอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยจะผลักดันเพื่อขับเคลื่อนและเปิดช่องทางการตลาดและสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ธุรกิจบริการด้านอาหารจะได้ประโยชน์ และมีโอกาสเติบโตจากการผลักดันนโยบาย Soft Power ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย อาทิ ท่องเที่ยว เทศกาลประเพณี นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังไทยและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

สำหรับการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการด้านอาหารของกระทรวงพาณิชย์ แบ่งได้ 4 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านการอบรมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านอาหาร
  2. ด้านการสร้างมาตรฐานและโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. ด้านขยายช่องทางการตลาด อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ประกอบการไทย
  4. ด้านการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยอย่างเต็มศักยภาพ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยเพิ่มเติม