นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางด่วนโทลล์เวย์ ได้ประกาศขึ้นค่าผ่านทางอีก 5-10 บาท โดยอ้างว่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่ให้ปรับขึ้นได้นั้น ในเรื่องนีี้มีรายละเอียดมาก ตนจึงได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งเป็นหน่วยงานคู่สัญญาให้พิจารณาแนวทางเจรจากับเอกชนชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางด่วนโทลล์เวย์ ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Don Muang Tollway ระบุว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00:01 น. จะปรับอัตราค่าผ่านทาง สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึง วันที่ 21 ธันวาคม 2572 โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าผ่านทาง จากอัตราในปัจจุบัน ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง 10 บาท (ค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อปี) ,ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง 5 บาท (ค่าเฉลี่ย 1 บาทต่อปี)
เมื่อมีการปรับราคา 10 บาทต่อคันดังกล่าวจะส่งผลให้ รถ 4ล้อ ตลอดเส้นทางยกระดับ ดินแดง-ดอนเมือง ขาออก จะปรับจากเดิม 80 บาทต่อคัน เป็น 90 บาทต่อคัน ส่วนรถที่ขึ้นจากด่าน หลักสี่ขาออก และด่านอนุสรณ์สถาน จาก 35 บาทต่อคันปรับเป็น 40 บาทต่อคัน และ รถมากกว่า 4 ล้อ จะปรับจาก 110 บาทต่อคัน เป็น 120 บาทต่อคัน ส่วนรถขาเข้าเมือง 4ล้อจากช่วงอนุสรณ์สถาน-ดินแดง จาก 120 บาทต่อคัน เพิ่มเป็น 130 บาทต่อคัน ส่วนรถมากกว่า 4ล้อจะปรับขึ้น สูงสุดที่ 170 บาทต่อคัน
ในช่วงที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรับมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศนโยบายที่จะปรับลดค่าผ่านทางด่วนลง เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 - 90 บาท ภายในปีนี้ ภายหลังจากที่ก่อนหน้าได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 สำเร็จ
ทั้งนี้ตามแผนจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งถัดมา 1วันทางโทลล์เวย์ก็ประกาศปรับค่าผ่านทาง โดยอ้างว่าเป็นไปตามสัญญาสัมทาน ที่สามารถปรับได้ ในวันที่ 22 ธันวาคม2567
อย่างไรก็ตามการลดค่าผ่านทางดังกล่าวจะทำให้ มีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท