นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายของครั้งที่ 2/2567 เบื้องต้นที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุขหรือทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์ ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางทางด่วนโทล์ลเวย์ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงนั้น เบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษารายละเอียดกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป และหากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร
“วันนี้ตนได้โทรไปสอบถามกับนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อหาแนวทางการเจรจากับเอกชนในการปรับลดค่าทางด่วนดอนเมืองโทรล์ลเวย์ โดยแลกกับการต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน ทั้งนี้คงจะต้องรอดูรายละเอียดในสัญญาก่อน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นค่าทางด่วนตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ยืนยันว่าการเจรจากับเอกชนในเส้นทางนี้จะไม่กระทบต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรล์ลเวย์ เนื่องจากเป็นสัญญาสัมปทานคนละเส้นทาง”
ทั้งนี้การเจรจากับเอกชนดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงคมนาคมต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดค่าครองชีพของประชาชน หากมีการปรับลดค่าผ่านทางจะทำให้ปริมาณรถที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิมที่มีรถใช้บริการในเส้นทางนี้ประมาณ 40,000 คันต่อวัน เป็น 80,000 คันต่อวัน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การเจรจาขยายสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน แต่กระทรวงฯ เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะหากเปรียบเทียบกับการไม่เจรจาเรื่องนี้ และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง ในเดือน ธ.ค. 2567 และ ธ.ค. 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577
ปัจจุบันการใช้ทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์จากดินแดง-อนุสรณ์สถาน ขณะนี้ต้องเสียค่าผ่านทางในอัตราที่สูงถึง 115 บาท หากปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 130 บาท และก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จะมีการปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 145 บาท
นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์เอกชนได้รับสัมปทานจาก ทล. ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2538 ปี 2539 และล่าสุดในปี 2550 ซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2577
“จากกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เจรจาปรับลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์ ทล.จะเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูลและเจรจากับเอกชน ซึ่งประเมินเบื้องต้นหากปรับลดค่าผ่านทางลง คาดว่าจะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นราว 15-20% ซึ่งทางด่วนดังกล่าวมีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับ”