สถานการณ์การประกอบธุรกิจของบรรดาค่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทั้ง ญี่ปุ่น จีน และยุโรป กำลังกลายเป็นที่สนใจในวงกว้าง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤตโควิด-19 ได้ดีเท่าใดนัก เห็นได้จากข่าวการเลิกกิจการ ปิดโรงงานของค่ายรถยนต์เกิดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้
เริ่มจากเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โรงงานผลิตรถยนต์ซูบารุ เตรียมปิดโรงงานที่ลาดกระบังในช่วงสิ้นปี 2567 นี้ หลังจากแบกภาระการขาดทุนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2562 ไม่ไหว พร้อมประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดประมาณ 200 คน ถัดมาไม่นาน บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานประเทศไทย ภายในช่วงสิ้นปี 2568
ล่าสุดยังมีกระแสข่าวอีกว่า โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง นิคมแหลมฉบัง ประกาศเตรียมปลดพนักงานพนักงานซับคอนแทรกทั้งหมด ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ เป็นพนักงานที่ได้รับการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง-ลูกจ้างชั่วคราว ไม่ใช่พนักงานประจำที่ได้รับการบรรจุ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมานี้ ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีการจ้างงานจำนวนไม่น้อย
ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ในประเทศไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทยมานานหลายปี รวม 5 บริษัท เพื่อให้เห็นถึงฐานะการเงินในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สรุปรายละเอียดได้ดังนี้
1.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2505 ทุนจดทะเบียน 7,520 ล้านบาท
งบการเงิน 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 และ 2566 รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กำไรลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 3.97% ในปี 2564 เป็น 5.47% ในปี 2566 ดังนี้
2.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2535 ทุนจดทะเบียน 5,460 ล้านบาท
งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการฟื้นตัวหลังจากผลกระทบในปี 2564 รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 2.65% ในปี 2564 เป็น 3.72% ในปี 2566 ดังนี้
3.บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2509 ทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านบาท
งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 และ 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 5.65% ในปี 2564 เป็น 7.85% ในปี 2566 ดังนี้
4.บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2530 ทุนจดทะเบียน 7,000 ล้านบาท
งบการเงิน 3 ปีย้อนหลัง(2564-2566) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีผลประกอบการที่ดีในปี 2564 และ 2565 รายได้และกำไรลดลงในปี 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 1.75% ในปี 2564 เป็น 2.86% ในปี 2566 ดังนี้
5.บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ทุนจดทะเบียน 1,944 ล้านบาท
งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี มีการฟื้นตัวเล็กน้อยในปี 2565 แต่กลับมาขาดทุนมากขึ้นในปี 2566 ดังนี้