สศช. ส่งสัญญาณรัฐบาลทำงบขาดดุล ไม่เกิน 3% ลดความเสี่ยงการคลัง

22 มิ.ย. 2567 | 02:42 น.

สศช. ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล ลดระดับการขาดดุลงบประมาณให้กลับสู่ระดับไม่เกิน 3% ของ GDP ความเสี่ยงทางการคลัง ผลักดันแผนการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ของรัฐ ปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ สศช. เสนอว่า เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานความเสี่ยงทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดระดับการขาดดุลงบประมาณให้กลับสู่ระดับไม่เกิน 3% ของ GDP รวมทั้งผลักดันแผนการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ของรัฐ และพิจารณาปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง 

รวมทั้งจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่มีภาระผูกพันชัดเจนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการจัดสรรงบชำระคืนต้นเงินกู้ให้สอดคล้องกับมูลหนี้ในแต่ละปี เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอที่จะรองรับความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่าง ๆ ในระยะต่อไป 

สำหรับการก่อหนี้ใหม่ควรมุ่งเน้นไปที่โครงการที่นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนเป็นลำดับแรก รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินสะสมส่วนเกินมาเป็นเงินทุนในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สศช. ยอมรับว่า สำนักงานฯ เห็นควรรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้ ด้านรายจ่าย และด้านหนี้ มุมมองความเสี่ยงทางการคลัง ในอนาคต รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สศช. เสนอว่า เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐนำรายงานความเสี่ยง ทางการคลังไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางด้วย

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบ แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่นคือ แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) กำหนดเป้าหมายและนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง

สำหรับรายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 กำหนดประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

ส่วนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2,797,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท

ขณะที่การขาดดุลงบประมาณแต่ละปี มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% ต่อ GDP
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อ GDP 

ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 65.7%
  • ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9%
  • ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8%
  • ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9%
  • ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%