รัฐบาลลงนามเปิด “วีซ่าฟรี” ไทย-ติมอร์ฯ กระตุ้นการท่องเที่ยว

22 มิ.ย. 2567 | 04:04 น.

รัฐบาลไทย และติมอร์–เลสเต ลงนามความร่วมมือเรียบร้อย เปิด “วีซ่าฟรี” โดยยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา กระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสองประเทศ

วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทย และติมอร์–เลสเต เดินหน้ากระชับความร่วมมือและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ วีซ่าฟรี ประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา 

ล่าสุดได้มีการลงนามในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความมั่นคงของติมอร์ ระหว่างะหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ติมอร์–เลสเต มีความประสงค์จะจัดทำความตกลงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของไทยและติมอร์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ ติมอร์จึงได้เสนอขอจัดทำความตกลงฯ เพื่อขอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ความตกลงฉบับนี้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยและบุคคลสัญชาติติมอร์เดินทางเข้าดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องมีการขอรับการตรวจลงตรา เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  • มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถูกบอกเลิกโดยคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง
  • ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือสาธารณสุข โดยการระงับและการเพิกถอนการระงับดังกล่าวจะต้องทำโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า เป็นต้น

 

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ติมอร์ ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน

ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในภาพรวมนั้น 
ไทยและติมอร์-เลสเต สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 มีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลีเปิดทำการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2545 โดย ไทยและติมอร์ฯ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนสำคัญหลายครั้ง รวมทั้งมีความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทย- ติมอร์ เช่น

ความร่วมมือทางวิชาการผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ติมอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2546 โดยสาขาความร่วมมือที่ติมอร์ฯ สนใจ ได้แก่ด้านการเกษตร สาธารณสุข พลังงาน 

ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงปิโตรเลียมและทรัพยากรแร่ธาตุติมอร์ฯ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Timor GAP ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติติมอร์ฯ

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการค้า ที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากติมอร์ฯ เป็นตลาดขนาดเล็ก ภาคธุรกิจ มีขนาดไม่ใหญ่ และสินค้าส่งออก (กาแฟ เนื้อมะพร้าวสำหรับผลิตน้ำมัน หินอ่อน) ไม่ใช่สินค้าที่ไทยต้องการ 

ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังติมอร์ฯ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ น้ำตาล ข้าวโพด ผลไม้กระป๋องแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงสวิทช์และแผงคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว  สินค้าที่ไทยนำเข้าจากติมอร์ฯ  ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องใช้เบ็ตเตล็ด เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้าน และ สิ่งพิมพ์     

ด้านการลงทุนระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ยังมีไม่มากนัก โดยยังไม่มีการลงทุนของติมอร์ฯ ในไทย ในขณะที่ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในธุรกิจด้านบริการในติมอร์ฯ เช่น ร้านอาหาร และสปา ทั้งนี้ติมอร์ฯ มีศักยภาพและเป็นโอกาสในการลงทุนของไทย โดยเฉพาะการก่อสร้าง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งติมอร์ฯ มีความต้องการ และด้านอุตสาหกรรมซึ่งนักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสซึ่งติมอร์ฯ ได้รับความช่วยเหลือในรูปสิทธิทางภาษี