วีซ่าฟรี ปั๊มท่องเที่ยว Q1/67 โรงแรมกำไรพุ่ง สายการบินติดหล่มบาทอ่อนกำไรหด

22 พ.ค. 2567 | 19:00 น.

วีซ่าฟรี ปั๊มท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปี 2567 บิ๊กธุรกิจโรงแรมโกยกำไร รายได้พุ่ง ทอท.ตีปีกผู้โดยสารจีน-อินเดียขยายตัวหนุนกำไรโต ขณะที่สายการบินติดหล่มบาทอ่อนกำไรหด ลดฮวบไปกว่า 9,465 ล้านบาท

การขยายตัวของการท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งมีต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นรวม 9.4 ล้านคน เติบโต 44 % จากปัจจัยบวกของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทย “วีซ่าฟรี” ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย อย่างนักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวอินเดีย เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก ทำให้ธุรกิจโรงแรมและสายการบิน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ โกยรายได้กันถ้วนหน้า

โดยในไตรมาสแรกปีนี้ธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ในตลท.ต่างมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดโควิด-19 บางโรงแรมก็มีกำไรสูงเกินกว่าช่วงปี 2562 ไปแล้ว 

จากดีมานต์การเดินทางเข้าไทยที่เพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของวีซ่าฟรี ยังส่งผลให้ 6 สนามบินหลักของไทย ภายใต้การบริหารของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” มีผู้โดยสารจีน เติบโตเฉลี่ยจาก 13,200 คนต่อวัน ไปเป็น 28,100 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 113 % และผู้โดยสารอินเดียเติบโตเฉลี่ยจาก 5,100 คนต่อวัน ไปเป็น 6,200 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 22 % 

ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (งวด 3 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2567) AOT มีกำไรสุทธิจำนวน 5,784.59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,221.56 ล้านบาท หรือ 26.77 % และในปี 2567 สนามบินสุวรรณภูมิ เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 

กำไรกว่า 5,784 ล้านบาทของ AOT ยังถือว่าสูงกว่ากำไรของ 3 สายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลท.รวมกัน เนื่องจากแม้สายการบินจะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 

ผลประกอบการธุรกิจโรงแรม-สายการบิน Q1/2567


สายการบินกำไรหด อ่วมบาทอ่อนค่า

ในส่วนของธุรกิจสายการบินยังคงเทคออฟต่อเนื่อง  3 สายการบินที่อยู่ในตลท. ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย  ทุกสายการบินมีรายได้รวมกันในช่วงไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 67,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกว่า 10,736 ล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินต่างๆเพิ่มมากขึ้น แต่กลับพบว่าในภาพรวมสายการบินมีกำไรรวมอยู่ที่ 4,282 ล้านบาทเท่านั้น ลดฮวบไปกว่า 9,465 ล้านบาท จากไตรมาส 1 ปี66 ที่มีกำไรรวมกันกว่า 13,747 ล้านบาท 

ภาพรวมกำไรที่ลดลงของธุรกิจสายการบินในตลท. ปัจจัยหลักมาจากการทำกำไรของ “การบินไทย” ที่ลดลง 80 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีการเติบโตของรายได้ถึง 45,955 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กว่า 5,372 ล้านบาท จากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้มูลค่าเงินกู้ รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้น การขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้อุปกรณ์การบินหมุนเวียนกว่า 3,338 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการเตรียมขายเครื่องบินจำนวน 12 ลำ ที่มีราคาเสนอซื้อเครื่องบิน ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น 16.9% จากการรับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 350 เข้าฝูงบินมากขึ้น และการนำเครื่องบินแอร์บัสเอ 330 กลับมาเปิดให้บริการ

ผลประกอบการการบินไทย Q1/2567

ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” ก็พลิกจากกำไร มาขาดทุน 409 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้ สาเหตุหลักจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 2,049.4 ล้านบาท ทั้งๆที่สายการบินมีกำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 1,640 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 203 ล้านบาท 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า แม้สายการบินจะมีผลประกอบการที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท เพราะในไตรมาส 1 ปีนี้ สายการบินพลิกจากขาดทุนจากการดำเนินงาน 203.2 ล้านบาท มาสร้างกำไรจากการดำเนินงาน 1,640.3 ล้านบาท จากอัตราการขนส่งผู้โดยสารรวมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 93 % ซึ่งสายการบินมีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศในเดือนมี.ค.แตะ 40% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

สันติสุข คล่องใช้ยา

ส่วนตลาดต่างประเทศได้ประโยชน์จากนโยบายยกเลิกวีซ่า (วีซ่าฟรี) และในปีนี้มีแผนจะรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 4 ลำ โดยตลอดทั้งปีนี้สายการบินตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 20-21 ล้านคน  มีรายได้เติบโต 20-23%

มีเพียง “บางกอกแอร์เวย์ส” สายการบินเดียว ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นถึง 113.7% ทั้งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็นับว่าทุบสถิติกำไรโตแซงปีก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ที่มีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาทไปแล้ว โดยในไตรมาสแรกปีนี้ สัดส่วนรายได้กว่า 73.4 % มาจากธุรกิจสายการบิน ซึ่งเส้นทางบินหลักในการสร้างรายได้ก็ยังคงเป็นเส้นทางบินสมุย ขณะที่อีก 16.8% เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ที่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการสายการบินต่างๆที่กลับมาเปิดบินเข้าไทยเพิ่มขึ้น 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่าภาพรวมสถานการณ์การเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกและในไทยที่ยังคงมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยปัจจัยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก และการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ โดยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่มี ความต้องการสูง โดยเฉพาะเส้นทางสมุย รวมถึงได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินไปยังประเทศจีน 2 เส้นทางเชื่อมเกาะสมุย ได้แก่ สมุย-เฉิงตู และสมุย-ฉงชิ่ง

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

บางกอกแอร์เวย์ส ยังคงวางเป้าผู้โดยสารตลอดปี 2567 ที่ 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท และยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยมีแผนข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมประมาณ 2 สายการบินในปี 2567 อีกทั้งมีแผนจะพัฒนาสนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด  ส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบิน เพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก 

โรงแรมรายได้พุ่งเกินโควิด-19 แล้ว

ในส่วนของธุรกิจ “โรงแรม” รายใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลท. เมื่อดูจากผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ พบว่ามีกำไรเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยโรงแรมที่ทำรายได้สูงสุด คือ “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ MINT โดยไมเนอร์ โฮเทลส์ ประเทศไทย ไมเนอร์ โฮเทลส์ ออสเตรเลีย และไมเนอร์ ฟู้ด มีอัตราการเติบโตระดับตัวเลข 2 หลัก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้น ไมเนอร์ โฮเทลส์ ยุโรป แอนด์ อเมริกา ที่ยังขาดทุนอยู่ แต่ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไมเนอร์ พลิกจากขาดทุน กลับมาทำกำไร 1,146 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้

วีซ่าฟรี ปั๊มท่องเที่ยว Q1/67 โรงแรมกำไรพุ่ง สายการบินติดหล่มบาทอ่อนกำไรหด

สำหรับโรงแรมที่ทำกำไรสูงสุดในไตรมาสแรกปีนี้ จะเป็น แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ “AWC” ซึ่งมีกำไร 1,604 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจโรงแรม สูงถึง 1,401 ล้านบาท เติบโต 83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าแซงหน้าปีก่อนเกิดโควิด-19 ไปแล้ว รวมถึงการเติบโตก้าวกระโดดตามกลยุทธ์การขยายพอร์ตโฟลิโอทรัพย์สินคุณภาพ โดยเฉพาะทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ของกลุ่มโรงแรมและการบริการที่เติบโตต่อเนื่อง เติบโตเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับปี 2562        

นอกจากนี้ AWC ยัง จะเร่งแปลงทรัพย์สินระหว่างพัฒนา (Developing  Asset) มูลค่ากว่า 40,024 ล้านบาท ให้เป็นทรัพย์สินดำเนินงาน (Operating  Asset) และการลงทุนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ด้วยงบประมาณการลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท โดยความสามารถในการจัดหาเงินทุน (Debt Capacity) ที่แข็งแกร่งและโมเดลลงทุนเพื่อการเติบโต เพื่อเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอคุณภาพในระยะยาว

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้จะเห็นว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม และเนื่องด้วยในไตรมาส 1/2567 เป็นไฮซีซันของธุรกิจ ส่งผลให้การเติบโตของกำไรสุทธิกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

ต้องยอมรับว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาครัฐ อย่าง Free Visa ค่อนข้างได้ผล และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีที่คาดการณ์ไว้ 35 ล้านคน ยังเป็นไปได้ เพราะในไตรมาส 1/2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วกว่า 9.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน และหากนับรวมเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยทะลุ 12.12 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 5.83 แสนล้านบาท

แม้ว่าตามปกติแล้วในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะเข้าสู่โลว์ซีซันของการท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรป ทำให้คาดว่าผลประกอบการของกลุ่มโรงแรมอาจย่อตัวลงเมื่อเทียบจากไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา และจะกลับมามีการเติบโตอย่างโดดเด่นอีกครั้งในไตรมาส 4/2567 โดยในปีนี้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้มองว่าราคาตั๋วเที่ยวบิน และราคาโรงแรมจะทรงตัวสูงได้ต่อไปนั่นเอง