สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายละเอียดจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานของ "แรงงานภาคการผลิต" สินค้าอุตสาหกรรม พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จะมีจำนวนผู้มีงานทำในสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้มีงานทำ 5.07 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1%
แต่เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนต่อสัปดาห์กลับปรับตัวลดลง โดยอยู่ที่ 45.31 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ โดยแรงงานรวมมีจำนวนเวลาการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 41 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.76 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นการลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร (The Labor force Survey Whole Kingdom) ชี ให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 แรงงานภาคการผลิตในสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีจำนวน 6.37 ล้านคน (สัดส่วน 16.28% ของผู้มีงานทำ) เพิ่มขึ้น 0.7%
ขณะที่จำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลาของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น และอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำแนกกลุ่มการผลิตตามนวัตกรรม ทั้ง 3 กลุ่ม พบข้อมูลน่าสนใจดังนี้
1. กลุ่มการผลิตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
มีผู้มีงานทำจำนวน 1.99 ล้านคน (สัดส่วน 39.27%) ลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานกลุ่มการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมีจำนวนเวลาการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 45.23 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลงถึง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.2% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.92% ลดลง 0.5%
โดยสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร มีผู้มีงานทำจำนวน 1.06 ล้านคน และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก มีผู้มีงานทำจำนวน 3.57 แสนคน โดยเป็นการลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงาน สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิต และอัตราการใช้กำลังการผลิต
2. กลุ่มการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น
มีผู้มีงานทำจำนวน 1.05 ล้านคน (สัดส่วน 20.70%) เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานกลุ่มการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีจำนวนเวลาการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 44.44 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.7% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 42.79% ลดลง 9.4%
โดยสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีผู้มีงานทำจำนวน 2.82 แสนคน โดยมีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิต
3. กลุ่มการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี
มีผู้มีงานทำจำนวน 2.03 ล้านคน (สัดส่วน 40.03%) ลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานกลุ่มการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีมีจำนวนเวลาการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 45.83 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 6.0% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.35% ลดลง 8.5%
โดยสาขาที่สำคัญได้แก่ การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง มีผู้มีงานทำจำนวน 4.45 แสนคน โดยมีจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ส่วนหนึ่งสะท้อนประสิทธิภาพทางการผลิตที่ลดลง อาจเป็นผลของช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น
เช่นเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ มีผู้มีงานทำจำนวน 4.35 แสนคน มีการลดลงในทุก ๆ องค์ประกอบ ทั้งการจ้างงานและชั่วโมงการทำงาน สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิต
อย่างไรก็ตาม สศช. มองว่า ในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งปัจจัยภายในประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) และปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิต จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งทางด้านทุนและด้านแรงงาน ควบคู่ไปกับการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมด้วย