โอกาสทอง ส่งออก อาหารเส้นไทยสู่ตลาดเกาหลีใต้ เทรนด์บริโภคพุ่ง-เน้นสุขภาพ

24 มิ.ย. 2567 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2567 | 07:54 น.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำรวจอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ ชี้เป็นโอกาสสินค้าไทยที่จะขยายตลาด ทั้งเส้นผัดไทย วุ้นเส้น มาม่า แนะผลิตเป็นสินค้าพร้อมปรุง จะยิ่งเพิ่มโอกาสขาย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทำการสำรวจโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ 

ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารเส้นของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารเส้นเป็นอย่างมากอยู่ในอันดับ 4 ของเมนูอาหารที่มีการบริโภคเป็นประจำ เฉลี่ยแล้วมีการรับประทานถึง 52.1 ครั้งต่อปีต่อคน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเส้นชนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อคนที่อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ พบว่า ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้อาหารที่ทำจากพืชที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และถูกนำมาใช้ในการทำอาหารเส้น เพื่อเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งโปรตีนสูง แคลเซียมสูง แคลอรี่ต่ำ และคาร์โบไฮเดรตต่ำ และยังช่วยเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม มีการควบคุมการใช้พลาสติกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้วัสดุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ปัจจุบันการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารเส้น (ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ในปี 2566 ร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายอาหารเส้นมากที่สุด ได้แก่ 

  • ไฮเปอร์มาร์เก็ต 30.3%
  • ซูเปอร์มาร์เกต 22.6%
  • ร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต 22.4%
  • ร้านสะดวกซื้อ 16.1%

การค้าปลีกของอาหารเส้นที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ 

  • อุด้ง 28.8%
  • บะหมี่เย็น 20.8%
  • บะหมี่เกาหลีหรือ Kalguksu 15.2%
  • พาสต้า 7.7% 

ส่วนการค้าปลีกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แบบซองและถ้วย) มากที่สุด ได้แก่ 

  • ร้านสะดวกซื้อ 29.1%
  • ไฮเปอร์มาร์เก็ต 23.0%
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต 21.7%
  • ร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต 15.7%

นายภูสิต กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเส้นในเกาหลีใต้ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยที่สำคัญหลายประการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าใหม่และน่าสนใจ รวมถึงการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านสื่อบันเทิง ส่งผลให้อาหารเส้นของเกาหลีหลายชนิดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน

สำหรับโอกาสของผู้ส่งออกไทย สินค้าอาหารเส้นของไทยมีการนำเข้ามายังเกาหลีใต้เป็นอันดับต้นของสินค้าอาหารเส้นนำเข้า และมีวางจำหน่ายอยู่ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของเกาหลีอยู่แล้ว อาทิ เส้นผัดไทย วุ้นเส้น เป็นต้น ในส่วนของมาม่า มีการจำหน่ายในช่องทางออน์ไลน์ เมนูอาหารเส้นของไทยหลายชนิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างของผู้บริโภคเกาหลี แต่ในการพัฒนาสินค้าเพิ่มเติม หากเป็นสินค้าที่สามารถปรุงได้ง่าย

โดยเฉพาะชุดอาหารพร้อมปรุง ก็จะทำการตลาดได้อย่างดี รวมถึงการปรับรสชาติให้เหมาะสม การปรับเพิ่มปริมาณ การลดความเผ็ดหรือความเข้มข้นของเครื่องปรุงรสลง และการสร้างสินค้าให้มีความหรูหราและมีโภชนาการทางอาหารสูง ก็จะสามารถขยายโอกาสการค้าในเกาหลีได้ดียิ่งขึ้น