นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 ขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และภาคการเกษตร อย่างไรดี การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าคงทน และปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.2 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -28.1
ทั้งนี้ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.4 ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -8.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.5 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 11.0
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพฤษภาคม 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60.5 จากระดับ 62.1 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -8.4
และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.7 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -20.2 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.1
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -10.8 และลดลงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.7 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.8
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 26,219.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 7.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5
เนื่องจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหมวดเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 110.7 44.4 และ 12.4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ สินค้าในหมวดผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง และนมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 128.0 46.6 39.2 และ 16.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และแผงวงจรไฟฟ้าชะลอตัว
“เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดจีน อินเดีย อินโดจีน-4 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 31.2 23.1 9.6 และ 9.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น หดตัวลงร้อยละ -8.1 และ-1.0 ตามลำดับ”
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวและภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.63 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 30.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.2
โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และ สปป. ลาว ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 22.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 14.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 10.0
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.54 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.39 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 63.8 ต่อ GDP1 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
“เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”