วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ครั้งที่ 2/2567 ถึงประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 รวมรายได้สุทธิรวม 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปี 67 ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นและมีความมั่นใจว่ากระทรวงการคลังจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายตามประมาณการที่งบประมาณปี 68 กำหนดไว้
นายลวรณกล่าวว่า ขณะที่ตัวเลข ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567) รวมรายได้สุทธิ หลังหักเงินจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 1,676,921 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 26,238 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.5 % โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์และยาสูบต่ำกว่าประมาณการ
นายลวรณกล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ 8 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงต้นปีงบประมาณ ต้องยอมรับว่า งบประมาณปี 67 ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า เศรษฐกิจโตน้อยและโตช้า กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ 2-3 มาตรการ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐ การกระตุ้นลงทุนภาคเอกชน และภาคท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องมือสำคัญ การอำนวยความสะดวกการชำระภาษี รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
นายลวรณกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ ภายหลังคณะมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ไทยเข้ากระบวนการสมัครเป็นสมาชิก จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมการประชุมในการกำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) บนมาตรฐานของโลก หรือ Pillar Two ในอัตรา 15 % จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ
“เราเชื่อว่าใน 4 เดือนหลัง เราจะใช้ความพยายามอย่าเต็มที่ในการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้รับให้ใกล้เคียงที่สุด”นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีนั้น ต้องลงไปดูในรายละเอียดของแต่ละกรม ตนตั้งใจที่จะติดตามการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนหลัง โดยจะดูเองทุกสัปดาห์ ได้เห็นพัฒนาการของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกสัปดาห์
“วันนี้เราเห็นตัวเลขการจัดเก็บรายได้ 8 เดือน แต่เรามีตัวเลขที่มองไปข้างหน้าที่ไกลกว่านั้น เรามั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ปี 67 จะทำได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของการเสียภาษี การไปดูแหล่งภาษีใหม่ ๆ กรมสรรพากรมีกองตรวจสอบแหล่งภาษีนอกระบบ การเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มการค้าขายที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น”นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวว่า กระทรวงการคลังเห็นช่องว่างการจัดเก็บรายได้ 8 เดือนแรก เป็นตัวเลขจริง แต่ 4 เดือนหลัง เราเห็นความพยามอย่างเต็มที่ของกระทรวงการคลังในการจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด
“มีแนวคิดในการเพิ่มรายได้ไหม มี ผมเองได้ประชุมเรื่องนี้กับอธิบดีกรมจัดเก็บภาษีและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกเดือน ครั้งล่าสุดเพิ่งประชุมไปเมื่อวันจันทร์ (24 มิ.ย.67) 4-5 ปีข้างหน้าจะมีการเพิ่มรายได้อย่างไรที่เหมาะสมและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ”นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวว่า ไทม์มิ่งเป็นเรื่องสำคัญ การออกนโยบายภาษีออกได้ไม่ยาก แต่ไทม์มิ่งที่นำมาใช้ต้องเป็นช่วงที่เหมาะสมด้วย สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจแข็งแรงพอ แน่นอนการหารายได้เพิ่ม เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็นเรื่องการการปรับอัตราภาษี หรือภาษีประเภทใหม่ ไม่ได้ละเลย และจะนำเสนอรัฐบาลในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวนการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวเพิ่มเติมถึงฐานการคลังของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ว่า จากผลการจัดเก็บรายได้ 8 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567 มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,628,689 ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 2,207,955 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังขาดดุล 564,966 ล้านบาท
นายพรชัยกล่าวว่า โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 420,170 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 394,260 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้สาธารณะล่าสุด จำนว 11.523 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 63.78 % ต่อจีดีพี