นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แนวคิดการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์นั้น ต้องมีการหารือในข้อกฎหมายการจัดตั้งกองทุนในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ขึ้นมา ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเราต้องการมีเงินเติมในระบบตลาดทุนเพื่อให้เกิดการกระตุ้น การหมุนเวียน
“ตัวกองทุนรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งกระทรวงการคลังอาจมีการพิจารณาตั้งกองทุนอีกสักกอง เป็นกองที่แยกต่างหาก แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไร สัดส่วนจะเป็นอย่างไร ต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง”
สำหรับรูปแบบของกองทุนวายุภักษ์ในอดีต มีการแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ เป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภท ก. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการลงทุน ซึ่งประเภทนี้มีมูลค่ากองทุน 1.5 แสนล้านบาท และ 2. ประเภท ข. เป็นการถือครองหน่วยลงทุนโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือ กองทุนที่ประชาชนลงทุนนั้น จะกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ และขั้นสูง ซึ่งเป็นการประกันผลตอบแทนให้กับประชาชน ขณะที่กอง ข.ไม่มีการประกันผลตอบแทน โดยกองทุนประเภท ก. จะได้รับผลตอบแทนก่อนประเภท ข. โดยผลตอบแทนของประชาชน จะต้องไม่ต่ำกว่า 3 %
ส่วนการดำเนินมาตรการกระตุ้นตลาดทุน ด้วยการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีผ่านกองทุนรวม Thai ESG โดยขยายให้ประชาชนสามารถซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้ และนำค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ จากปัจจุบัน ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครอง จาก 8 ปี เหลือ 5 ปี จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยดัน Market Cap ให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการกระตุ้นตลาดทุนแล้ว จากนี้ไปจนถึงก่อนสิ้นปีนี้ ยังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนที่จะมีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รอเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนอื่นยังจะมีมาอยู่ และจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ซึ่งมาตรการจะมีเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ จนกว่า ครม.เศรษฐกิจจะอนุมัติเสียก่อน”