คลังเตรียมถก ธปท. กำหนดกรอบเงินเฟ้อใหม่ ชงออกมาตรการดูแลเข้ม

27 มิ.ย. 2567 | 06:30 น.

คลังเตรียมถก ธปท. กำหนดกรอบเงินเฟ้อใหม่ เสนอ 2 แนวทาง ชงออกมาตรการดูแลเข้ม กันเงินเฟ้อหลุดกรอบ ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องปลักดันเศรษฐกิจ ดูแลเงินเฟ้อ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือภายในถึงเรื่องกรอบอัตราเงินเฟ้อ โดยมี 2 ทางเลือก คือ 1.การกำหนดกรอบเงินเฟ้อเหมือนเดิม 2.กำหนดค่ากลางเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ภายหลังจากหารือในกระทรวงการคลังแล้วจะนำข้อสรุปไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยหากข้อสรุปไม่ตรงกันก็ต้องถอยคนละก้าว ซึ่งจะเร่งหารือกับธปท. ให้เร็วที่สุด

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้เรากำลังพิจารณา 2 แนวทางคือ กำหนดกรอบเหมือนเดิมที่ 1-3% หรืออาจจะเพิ่มหรือลด และการกำหนดค่ากลาง เช่น 2% แล้วบวกลบ 0.5% โดยการปรับเรื่องเงินเฟ้อจุดประสงค์ คือ เราไม่อยากเห็นเงินเฟ้อในระดับต่ำเกินไป ความเห็นส่วนตัวคิดว่ากรอบล่าง 1% ต่ำเกินไป ไม่ควรเป็นกรอบล่าง เพราะหมายความว่าเศรษฐกิจไม่เคลื่อนตัว คนไม่ใช้จ่าย เราอยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงกว่านี้”

ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่สำคัญกว่ากรอบเงินเฟ้อ คือ การมีกรอบเงินเฟ้อแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำรายงานชี้แจงส่งกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังจะรับทราบข้อชี้แจงในหนังสือนั้น และหารือกันเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการที่บังคับให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบให้ได้

“ไม่ว่ากรอบจะกำหนดมาดีแค่ไหน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินหรือมาตรการทางการคลังไม่ได้ปฏิบัติตาม มีกรอบไปก็เท่านั้น ดังนั้นความเห็นส่วนตัวและความเห็นจากหลายท่านในกระทรวงการคลัง มองว่าจะต้องมีมาตรการที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบไม่ว่าจะใช้เป็นกรอบหรือค่ากลางก็ตาม คงไม่ถึงขั้นลงโทษแต่จะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น”

สำหรับปัจจุบันเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ได้พยายามใช้มาตรการทางการคลังอย่างเต็มที่ โดยในด้านสินเชื่อ เช่น อยู่ระหว่างออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 มาตรการทางภาษี เช่น เที่ยวเมืองรอง รวมถึงมาตรการเรื่องการลงทุน

“การที่เงินเฟ้อเริ่มขยับสูงขึ้นเป็นผลจากการที่ได้ใส่มาตรการทางการคลังลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามเหยียบคันเร่ง หากไม่มีมาตรการต่างๆ อาจจะได้เห็นเงินเฟ้อที่ 0.3-0.4% ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นคือการร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ไม่ใช่แค่เฉพาะแบงก์ชาติ ที่มีหน้าที่ในการผลักดันเศรษฐกิจที่ควรไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบได้เร็วขึ้น”