วันที่ 28 มิถุนายน 2567 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มีมติรับทราบ มาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติให้ได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ และความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
สำหรับมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ที่เสนอโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกอบด้วย
1.ช่วงการสำรวจแร่ (ตั้งแต่การขออาชญาบัตร การสำรวจแร่ และภายหลังสำรวจแร่)
ช่วงการขออาชญาบัตร
- ประกาศหรือกำหนดระเบียบ ให้พื้นที่ที่รัฐจัดสรรหรือออกให้ประชาชนเพื่อทำการเกษตรกรรม เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับทำการสำรวจแร่ และทำเหมืองทุกชนิด
- ให้การสำรวจแร่เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทำการสำรวจแร่ ทั้งนี้ รัฐอาจจ้างภาคเอกชนดำเนินการ แทนการให้ภาคเอกชนรับอาชญาบัตรสำรวจแร่จากรัฐเหมือนเช่นที่ผ่านมา
- ให้มีการดำเนินการกำหนดคำนิยามของคำว่า “พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ที่ชัดเจนไว้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- พิจารณาเสนอเพิ่มเติมกฎหมายให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงการขออาชญาบัตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
- ในระหว่างการแก้ไขกฎหมายซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงควรออกประกาศให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงการขออาชญาบัตรไปก่อน
- ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการแร่
ช่วงระหว่างสำรวจแร่
- ขอประกาศหรือกำหนดระเบียบ โดยกำหนดว่า พื้นที่ใดจะมีการทำเหมือง พื้นที่นั้นควรได้รับการรับรองเส้นแนวเขตในโซนเป็นที่ยุติและเสนอคณะนุกรรมการฯ (One Map) พิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและเสนอครม.เห็นชอบเป็นรายพื้นที่แล้วจึงดำเนินการทำเหมืองได้
- พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ ให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและตรวจสอบได้ และติดป้ายประชาสัมพันธ์แบบถาวรในพื้นที่เป็นจุด ๆ โดยแสดง รายนามผู้ได้รับอนุญาต จำนวนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ระยะเวลาเริ่มต้น - สิ้นสุดการสำรวจแร่ วิธีการสำรวจ และชนิดแร่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่ที่อนุญาตให้ทำเหมืองด้วย
2.ช่วงการประทานบัตร (ตั้งแต่ก่อนทำเหมืองแร่ ระหว่างทำเหมือง และหลังปิดเหมือง)
ช่วงก่อนการทำเหมือง
- การรับฟังความเห็นของชุมชนในพื้นที่ไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ไม่เหมาะสม ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาแก้ไขประกาศ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความเห็น โดยกำหนดให้ประกาศเผยแพร่ให้ประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนภายนอกพื้นที่ สามารถเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและคัดค้านได้
- กำหนดมาตรการเร่งรัดการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
- ให้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบการเข้าร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยพิจารณาการลงทุนทั้งจากหุ้นโดยตรง หุ้นแฝง และการโอนเงินของผู้เกี่ยวข้องที่มีลักษณะของธุรกรรมอำพรางอย่างเคร่งครัด
- ควรให้มีการเผยแพร่รายงานEIA/EHIA เป็นระยะ ๆ และนำรายงานฉบับสมบูรณ์ลงเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
- ควรนำรายงาน EIA/EHIA ฉบับเต็มลงเว็ปไซต์ เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
- พิจารณาเสนอบทกำหนดโทษตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2561 กำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือองค์กรและเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานหรือองค์กรที่รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเจตนาทำรายงานเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงของโครงการอันเป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับโทษ ทั้งทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครอง
- เมื่อรายงาน EIA/EHIA ครบระยะ 5 ปี ก่อนได้รับอนุญาตประทานบัตร ควรกำหนดรอบเวลาให้โครงการทำการทบทวน EIA/EHIA และปรับปรุงมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่เป็นปัจจุบัน
- หลังจากได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้ว ควรกำหนดรอบระยะเวลาให้โครงการทำการทบทวน EIA/EHIA และปรับปรุงมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุก 5 ปี
- ในระยะยาวควรปรับปรุงกฎหมายให้มีกฎหมายเดียวบังคับใช้การทำเหมืองแร่ทุกชนิดและมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะซึ่งจะส่งผลให้การขอประทานบัตรสัมพันธ์กับการจัดทำ EIA/EHIA
ระหว่างการทำเหมือง
- การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ควรให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเป็นรายลักษณ์อักษรและกำหนดให้ชัดเจนว่า กรณีใดกระทำแล้วผิดกฎหมาย
- การรายงานผลประกอบการ ควรพิจารณาแก้ไขระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งรายงานการทำเหมือง โดยกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรใช้การรังวัดแสดงพิกัดการทำเหมืองเพื่อรายงานปริมาณการผลิตแร่ ด้วยการใช้ระบบแสดงพิกัดการทำเหมืองโดยใช้ GPS (Global Positioning System) ควบคู่กับการใช้อากาศยานไร้คนขับ Drone
- ควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แร่ 2560 ให้อำนาจกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวัง ตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ประทานบัตร และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมป่าไม้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบพื้นที่ประทานบัตรหลังเหมืองแร่เปิดดำเนินการ
- แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2561 ให้อำนาจกรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวัง ตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งภายในและนอกพื้นที่ประทานบัตร
- ให้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Base Line Data) โดยรอบเหมืองเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อนอนุญาตประทานบัตร
- ให้มีการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมือง ทุก 6 เดือน
ช่วงหลังปิดหมือง
- ควรจัดให้มีป้ายประกาศ ณ บริเวณพื้นที่ทำเหมืองในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ให้ประชาชนได้รับทราบว่าการทำเหมืองนั้น ทำในพื้นที่ของหน่วยงานใด เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด และทำการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลมิให้มีการทำเหมืองแร่โดยผิดกฎหมาย
- ควรกำหนดแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่เหมืองแร่หลังปิดเหมืองกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ชัดเจน
3.กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
- กรณีคำจำกัดความของคำว่า “นโยบายสาธารณะ” ยังไม่มีความชัดเจน เห็นควรทำการหารือร่วมกับนานาประเทศ เพื่อผลักดันให้มีคำนิยามที่ชัดเจนว่า “การขัดต่อนโยบายสาธารณะ” มีความหมายครอบคลุมถึงกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศมีการทุจริต หรือมีการดำเนินการใดที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชน พร้อมทั้งเสนอให้มีการเพิ่มเติมคำนิยามดังกล่าวลงในภาคผนวกของอนุสัญญานิวยอร์ก
- กรณีในอนุสัญญาและข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องของการทุจริต หรือปัญหาสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อม ไว้เป็นเงื่อนไขของการที่จะให้ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ไม่มีสิทธิมาฟ้องร้อง เห็นควรให้บรรจุข้อความ นิยามของ "ประโยชน์สาธารณะ" ให้ชัดเจนครอบคลุมถึงกรณีที่มีการยุติสัญญา เมื่อเกิดปัญหาการทุจริตหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยไว้ในข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ ประเภทต่าง ๆ เช่น FTA