จับตา "เศรษฐา" ดึงออสเตรเลียร่วมลงทุนเหมืองโปแตซในไทย

04 มี.ค. 2567 | 07:34 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 07:35 น.

จับตา "เศรษฐา" กล่อมออสเตรเลียร่วมลงทุนเหมืองโปแตซในไทย หลังดึง กพร. ร่วมเดินทางให้ข้อมูลในการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ด้านอธิบดีกรมเหมืองแร่คาดปี 71 ไทยมีปุ๋ยโปแตซใช้ในประเทศ

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ตนร่วมเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (2024 ASEAN-Australia Special Summit) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้นำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตซในประเทศไทยไปแสดงให้กับนักลงทุนของออสเตรเรียได้รับทราบ เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยได้มีการนัดหมายไว้แล้ว 3-4 บริษัท

"ออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 ทางด้านความเชี่ยวชาญในการทำเหมือง ดังนั้น ไทยจึงมองเห็นโอกาสที่จะชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยจะเน้นส่วนที่เป็นแร่ลิเทียม กับแรร์เอิร์ธ (Rare Earth) มากกว่า แต่ก็จะมีในส่วนของโปแตซรวมอยู่ด้วยหากออสเตรเรียให้ความสนใจ"

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามที่จะดึงนักลงทุนจากประเทศซาอุดิอาระเบียให้เข้ามาร่วมลงทุนโครงการเหมืองโปแตซในไทย โดยมองว่าเป็นประเทศที่มีเงินทุนมาก และมีเพียงแร่ยูเรียจากการผลิตน้ำมัน และแร่ฟอสเฟต แต่ยังขาดดปแตซจึงครบทั้งหมด แม้ซาอุฯจะมีแหล่งโปแตซที่ใกล้กว่าอย่างประเทศโอมานที่มีการร่วมมืออยู่แล้วก็ตาม

"ซาอุฯมีความต้องการโบรมีน (Bromine) ซึ่งไทยมีไม่มาก จึงยังไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก แต่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีความพยายามบริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือที่รัฐบาลถือหุ้นมาลองพิจารณาเหมืองโปแตซของไทย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการรอคำตอบ"

นายอดิทัต กล่าวต่อไปอีกถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเหมืองโปแตซในไทยด้วยว่า โครงการที่นครราชสีมา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 9,005 ไร่ ซึ่งมีปริมาณแร่สำรองประมาณ 2.2 ล้านตัน โดยมีบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับในอนุญาติประทานบัตรตั้งแต่ 58 ล่าสุดประสบปัญาเรื่องน้ำรั่วจากการขุดเจาะอุโมงแบบเอียงเข้าไปสู่ชั้นแร่ ดังนั้น ไทยคาลิ จึงยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงแผนผังปรับเปลี่ยนเป็นการเจาะอุโมงค์แนวดิ่ง

อย่างไรก็ดี ล่าสุดเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงคิดว่าในเดือนมี.ค. หรือเม.ย.หากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วนก็น่าจะพิจารณาอนุญาติให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองได้

"โครงการดังกล่าวยังมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านที่อ้างว่าน้ำรั่วออกจากพื้นที่การทำเหมืองสร้างความร้อน กพร.จึงได้ตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ซึ่งได้ผลเบื้องต้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องนำผลดังกล่าวไปให้ชาวบ้านที่ร้องเรียนรับทราบว่ามีความพึงพอใจหรือไม่อย่างไร โดยจะเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาติการเปลี่ยนแปลงแผนผังด้วย"

ส่วนโครงการเหมืองแร่งโปแตซที่จังหวักชัยภูมิ ซึ่งพื้นที่ประมาณ 9,700 ไร่เศษ โดยมีปริมาณแร่สำรองประมาณ 17.3 ล้านตัน มีบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  ได้รับอนุญาติประทานบัตรเมื่อปี 2558

ขณะที่โครงการเหมืองแร่ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 26,000 ไร่เศษ มีปริมาณแร่สำรอง 23.7 ล้านตัน ซึ่งบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาติเมื่อปี 2565 โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังได้ประมาณเดือนมิ.ย.-ก.ค. 67 โดย APPC ยืนยันว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยอย่างแน่นอน

"กพร.พยายามเร่งผลักดันทั้ง 3 แปลงให้มีการดำเนินการมากที่สุด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าจะต้องเปิดการภายใน 1 ปี แต่การเข้าพื้นที่ไปปรับปรุงก็ถือว่าเป็นการเปิดการ กพร.จึงไม่สามารถบังคับได้ว่าต้องขุด หรือนำแร่ขึ้นมามากน้อยแค่ไหน โดยเป็นเรื่องธุรกิจที่ให้สิทธิ์ไปแล้ว หากยังไม่ทำอะไรกับพื้นที่ภาครัฐก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ประเทศอาจจะเสียโอกาสในการได้ปุ๋ยมาช่วยเกษตรกร ไทยถือว่ามีโอกาสที่ดี เพราะมีปริมาณสำรองโปแตซเป็นอันดับต้นของเอชีย แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้เอาขึ้นมาใช้ ซึ่งมองว่าอย่างช้าสุดปี 71 ไทยจะมีปุ๋ยโปแตซใช้ในประเทศ"