จากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ทำให้ "ผู้ซื้อ" และ "ผู้ขาย" เกิดความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วแค่พริบตาเดียวส่งผลให้ประสบปัญหาเรื่องของ "สินค้าไม่ตรงปก" สินค้าไม่ได้คุณภาพและไม่ได้มาตรฐานตามที่แจ้งเอาไว้
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (ETDA) เตรียมออกประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเปิดให้ ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมถึงประชาชนผู้บริโภคได้เสนอความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าว ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม 2567
สาระสำคัญ เป็นกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เรื่อง คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ว่าอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
เพื่อให้มีกลไกกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมเกี่ยวกับการจำหน่าย หรือการโฆษณาเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานอาหารและยา (อย.)
ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ขึ้น
เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอันจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้า รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำไปแนวปฏิบัติฉบับนี้ไปศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบและลักษณะการ ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น ๆ เพื่อจะช่วยลดปัญหาหรือความเสียหายที่เกิดจากการจำหน่ายหรือการโฆษณาเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มีมาตรฐานรวมถึงการไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า ตลอดจนการโฆษณาเพื่อจำหน่ายสินค้านั้นๆ บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการยกเว้นหรือปฏิเสธความรับผิดตามกฎหมายอื่น เป็นต้น
ในร่างประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย 4 หมวดหลัก รวม 12 ข้อ ทั้งเรื่องของวัตถุประสงค์ ขอบข่ายของการให้บริการบนแฟลตฟอร์มดิจิทัล บทนิยามความหมายของ ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค รวมถึงการโฆษณา และมาตรฐานของสินค้า
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าและความเป็นผู้ประกอบการบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลก่อนเผยแพร่ การดำเนินการขณะเผยแพร่สินค้า การรีวิวสินค้า และมาตรการหลังการเผยแพร่สินค้าแล้ว เป็นต้น
ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
คลิกที่นี่ การรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล