เหลียวหลังแลหน้า 27 ปี "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ระเบิดเวลา "วิกฤตการคลัง"

02 ก.ค. 2567 | 01:29 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 01:37 น.

เหลียวหลังแลหน้า 27 ปี "วิกฤตต้มยำกุ้ง" กับ "พิสิฐ ลี้อาธรรม" รำลึก 2 กรกฎาคม 2540 วันที่ประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" จนทำให้เถ้าแก่-เจ้าสัวต้องเจ็บปวด-ต้องขายกิจการ ผู้ถือหุ้นเคียดแค้น-เป็นศัตรู หลังจากต้องปิดสถาบันการเงิน

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 วันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เป็นวันที่รัฐบาลไทย ประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท”

จากประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สองหลัก วาดภาพเศรษฐกิจไทยโชติช่วงชัชวาลเป็น “เสือตัวที่ห้า” แห่งเอเชีย กลับตาลปัตรกลายเป็น “ลูกหนี้” กองทุนทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

เงื่อนไข "มหาโหด" ของไอเอ็มเอฟ ทำให้รัฐบาลไทย ต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ตัดรายจ่าย-เพิ่มภาษี VAT ตลอดจนออก "กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" เพื่อส่งสัญญาณบวกให้นักลงทุนต่างชาติเห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศที่เงินทุนสำรองต่ำเตี้ยติดดิน

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พิสิฐ ลี้อาธรรม” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 เพื่อย้อนรำลึก “วิกฤตการเงิน” ความหลังอันเจ็บปวดของใครหลายคน และถอดบทเรียน-ถอดชนวน “ระเบิดเวลา” ในปัจจุบัน ไม่ให้นำไปสู่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ในอนาคต  

“อดีตนักเรียนทุนเศรษฐศาสตร์” ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 10 ผู้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งก่อน-หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่มีชื่อเล่นว่าวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เริ่มต้นเล่าชะตาชีวิตที่ทำให้เขาต้องเข้าไปพัวพันกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 27 ปีที่แล้วจนถอนตัวไม่ขึ้น 

“ผมกลับจากเป็นนักเรียนทุนมาทำงานอยู่แบงก์ชาติ ด้านวิชาการเป็นหลัก เรื่องการคลังและได้ไปทำงานที่ไอเอ็มเอฟด้วย รวมกัน 17 ปี”

ช่วงท้ายที่กลับมาจากไอเอ็มเอฟ ทำหน้าที่โฆษกแบงก์ชาติแถลงข่าวทุกสัปดาห์ ได้มีโอกาสได้พบปะ นักข่าว ผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงินการคลังที่สนใจเรื่องแบงก์ชาติ นักลงทุนต่างชาติพยายามมาคุยเพื่อขอข้อมูล ขอความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย 

“จนกระทั่งได้รับการเสนอจากแบงก์กรุงเทพให้ไปทำงานด้วย ผมก็ขอลาออกจากแบงก์ชาติ เมื่อปี 1994 ทำงานเกี่ยวกับการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรื่องของ Project Finance เรื่อง Investment banking ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อมั่นเช่นเดียวกัน”

ปฐมบท "ลอยตัวค่าเงินบาท" 

ตลอดครึ่งปีแรกของปี 40 มีข่าวในประเทศไทยอยู่ 2 ข่าว ที่กระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ข่าวแรก เรื่องของสถาบันการเงินจะล้ม แห่งนั้นจะล้ม แห่งนี้จะล้ม มีข่าวลือตลอดเวลา คนก็แห่กันไปถอนเงิน เพราะกลัวว่าเงินจะสูญ คนที่มีสตางค์ไปซื้อตั๋ว P/N หรือฝากกับบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งได้ดอกเบี้ยสูงมาก ดอกเบี้ยตอนนั้น 15 % หรือมากกว่านั้น นี่ในระบบนะ 15 % ต่อปี ถือเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง แต่คนก็ไม่คิดว่า บริษัทเงินทุนใหญ่ ๆ พวกนั้นจะล้ม 

ข่าวที่สอง เป็นข่าวลือที่มักจะมีในต่างประเทศ คือ มีคนมาเก็งค่าเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ กลุ่มของพวกโซรอส เป็นกองทุนที่มีความคิดการลงทุนต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งเมื่อก่อนกองทุนจะดูพื้นฐาน ดูโอกาสที่จะมีรายได้เป็นหลัก แต่พวกเฮดจ์ฟันด์ เล่นเงินที่จะตกที่จะขึ้นและเก็งค่า โดยการไปซื้อล่วงหน้า ขายล่วงหน้า ซึ่งเขาได้รับความสำเร็จมาแล้วในปี 1992 

“5 ปีก่อนหน้าวิกฤตปี 40 พวกคนกลุ่มนี้เคยไปเก็งค่าเงินปอนด์และเคยรับกำไรถึง 1 พันล้านปอนด์จากแบงก์ชาติอังกฤษ สุดท้ายก็สู้ไม่ไหวก็ปล่อยให้ค่าเงินปอนด์ลอยตัว เงินปอนด์มีอยู่ยุคหนึ่งตกต่ำเกือบจะเท่ากับ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ปอนด์ ในปีต่อมาก็ไปเก็งค่าเงินของมาเลเซียก็เสียค่าโง่ไปพอสมควร”

พอในปี 1997 เขาก็ใช้ทฤษฎีที่ว่า ประเทศไหนที่มีสถาบันการเงินอ่อนแอ จนไม่สามารถปกป้องค่าเงินได้ ยังเป็นการใช้ระบบแบงก์ชาติรับประกันค่าเงินบาท ซึ่งประเทศไทยตอนนั้นมีการลงทุนสูงมาก ต่อเนื่องมาจากสมัยพล.อ.ชาติชาย การลงทุนจากต่างประเทศทำให้การลงทุนภายในประเทศขยายตัวมาก จีดีพีโตเร็ว โอกาสในการทำธุรกิจเยอะ นักธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินมาลงทุน โดยใช้วิธีกู้เงินจากต่างประเทศ กู้เงินเป็นดอลลาร์เข้ามา 

“แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังขณะนั้นเปิดทางให้ ถ้ามาทำธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ต้องเสียภาษีจากเกณฑ์ปกติ ต้องเสียภาษีการค้า (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) ก็ไม่ต้องเสีย แต่ถ้าไม่มี BIBF ก็ต้องกู้อยู่แล้ว เพราะดอกเบี้ยต่างประเทศถูก เทียบกับดอกเบี้ยในไทยเหลือเพียงครึ่งเดียว”

บริษัทเงินทุนให้ดอกเบี้ยตราสารหนี้ (PN) 15 % แบงก์พาณิชย์ให้เงินฝากดอกเบี้ยมากกว่า 10 % ถ้าจะกู้เงินดอกเบี้ยต้องแพงกว่านั้นอีก ถ้ากู้เป็นเงินดอลลาร์ดอกเบี้ยเหลือ 7 % คุ้มกว่าที่จะกู้เป็นดอลลาร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 

แบงก์ชาติรับศึกสองด้าน 

“สิ่งเดียวที่เขากลัวก็คือ ค่าเงินบาทจะเอาไหวไหม ซึ่งแบงก์ชาติตอนนั้นก็ต้องรับบทในการต้องคอยปลอบผู้ลงทุนว่า เงินบาทยังมีความมั่นคงและยังมีเสถียรภาพอยู่ วิธีการ คือ พยายามสู้ให้ค่าเงินบาทไว้ ยันไม่ให้ค่าเงินบาทลดค่า แบงก์ชาติในช่วงต้นปี ต้องสู้ศึกสองศึก” 

ศึกที่หนึ่ง เรื่องของข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันการเงินจะล้ม สอง เรื่องของค่าเงิน ต้องพยายามขายดอลลาร์เพื่อต้านไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อน เพราะนักลงทุนคาดหวังว่า แบงก์ชาติต้องดูแลค่าเงินให้เงินบาทมีเสถียรภาพเมื่อคิดเป็นดอลลาร์ 

“เราคงได้ข่าวกันตอนนั้นว่า วันดีคืนดีกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติก็ออกมาดื่มไวน์ฉลองกันที่ทำให้พวกนักเก็งกำไรพ่ายแพ้”

ศึกที่สอง สถาบันการเงินที่มีการลือกันว่าจะล้มต้องมีการสั่งปิดชั่วคราว ปิดรอบแรกเดือนมีนาคม การมีข่าวนี้ก็ยังไม่จบ ก็ต้องปิดเพิ่ม จากที่ปิดชั่วคราว 10 แห่ง ก็ปิดชั่วคราวอีก 30-40 แห่ง เบ็ดเสร็จต้องสั่งปิดชั่วคราว 58 แห่ง และยังมีแบงก์ขาดกลางและขนาดเล็กที่ยังมีปัญหาเรื่องฐานะไม่ดี 

“สุดท้าย ทั้งสองเรื่องก็มาปะทุเป็นวิกฤตเมื่อวัน 2 กรกฎาคม 2540”

ในช่วงครึ่งหลังของปี 40 ภายหลังประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” พิสิฐ ซึ่งขณะนั้นเป็น “นายแบงก์” เป็นปีที่ 3 ยังสัญญาณความเสียหายทางเศรษฐกิจได้แม่นยำ 

“ในช่วงครึ่งหลังของปี 40 ธุรกรรมต่าง ๆ แทบไม่ค่อยมี เพราะเศรษฐกิจเสียหายมาก ค่าเงินบาทลดลงทุกวัน เพราะแบงก์ชาติไม่มีทุนสำรองเป็นแบคอัพให้อีกแล้ว ไฟแนนซ์ที่ปิดไป เงินฝากก็โดนล็อกไว้ ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง จีดีพีไทยติดลบ” 

“แบงก์กรุงเทพเริ่มจะเสียหายตรงที่เงินที่ปล่อยกู้ไป ลูกค้ากู้เป็นดอลลาร์ พอเงินบาทลดค่า หนี้ดอลลาร์จะเป็นหนี้เงินบาทมากขึ้น ๆ ลูกค้าจะมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้” 

หลังจากปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เงินบาทลดค่าลงเรื่อยๆ ทุกวันๆ ธุรกิจย่ำแย่ ไม่เป็นอันทำงานกัน เพราะต้องมาห่วงเรื่องการบริหารหนี้ ต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เงินต้นก็สูงขึ้น จากเดิมกู้มา 1 ดอลลาร์ ได้เงินมา 28 บาท ตอนนี้ต้องหาเงิน 55 บาท มาชำระหนี้เงิน 1 ดอลลาร์ 

ฟอร์มรัฐบาลชวน 2 

ในช่วงไตรมาสที่สี่ ปี 2540 ภายหลังรัฐบาลพล.อ.ชวลิตลาออก “รัฐบาลชวน 2” ก็กลับเข้ามารับ “เผือกร้อน” ที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย  

“ท่านชวนก็มาฟอร์มรัฐบาล และชวนผมมาจากแบงก์กรุงเทพ ตอนนั้นผมยังทำงานอยู่ที่แบงก์กรุงเทพ จำได้ว่า ดึก ๆ ตอนสัก 2 ทุ่ม ผมยังนั่งทำงานอยู่ คุณอลงกรณ์ซึ่งเป็นเลขาฯคุณชวนตอนนั้นก็โทรมาบอกว่า ประเดี๋ยวหัวหน้าจะโทรมาคุยด้วย 

ผมก็นึกอยู่ในใจ เอ๊ะ จะคุยเรื่องอะไร ผมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมือง ผมทำงานที่แบงก์กรุงเทพ ในทางเอกชนมากกว่า ไม่เคยยุ่งกับการเมือง และไม่เคยคิดจะว่าตัวเองจะเป็นนักการเมือง”

“คำแรกที่บอกคือ อย่าปฏิเสธผมเลยนะครับ ท่านขอให้ผมมาร่วมรัฐบาลใหม่ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง ผมเลยขอปรึกษาครอบครัวก่อน 

วันต่อมาผมก็ตัดสินใจว่า ในเมื่อประเทศมีวิกฤตและเราก็มีประสบการณ์ ความรู้ รู้เรื่องเกี่ยวกับไปเอ็มเอฟ รู้เรื่องการเงิน รู้เรื่องสถาบันการเงิน รู้เรื่องแบงก์ชาติ ถ้าเราปฏิเสธเราก็จะดูดายเกินไป”

ช่วงนั้น ทุกฝ่ายมองว่ารัฐบาลนายกฯชวน 2 คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะปีนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยมาก รัฐมนตรีคลังเปลี่ยนมาหลายคน 

“พิสิฐ” เป็นนายแบงก์ “คนที่สอง” ของธนาคารกรุงเทพ-รับไม้ต่อจาก “โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” รมว.คลังใน “รัฐบาลบิ๊กจิ๋ว” ที่่นั่งเก้าอี้ขุนคลังได้เพียง 2 อาทิตย์ก็ต้องกลับมาอยู่แบงก์กรุงเทพ เมื่อ พล.อ.ชวลิตประกาศลาออกในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 

“ผมก็ไปลาคุณชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการแบงก์กรุงเทพ ท่านก็บอกทำนองว่า เสร็จแล้วก็มาอยู่แบงก์กรุงเทพนะ ผมก็บอกว่า ก็อาจจะปีสัก ปี 2 ปี ท่านก็บอกว่า อะไรกันท่านนึกว่าอย่างมากไม่เกิน 3 เดือน รัฐบาลก็ล้ม” 

ต่างกันตรงที่ “พิสิฐ” ไม่ได้หวนกลับไปใส่สูทผูกไทกลับไปเป็นนายธนาคารแบงก์ใหญ่อีกเลย 

“ผมอยู่ทำงานกับรัฐบาลชวน 2 แทนที่จะอยู่แค่ไม่กี่เดือนที่คนคาดหวังกันก็อยู่จนกระทั่งใกล้หมดวาระ 

ผมก็เลยต้องอยู่กับการเมืองมาเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจ ว่า ไม่กลับไปอยู่แบงก์ อยู่ภาคการศึกษา ธุรกิจ มูลนิธิต่างๆ”

จาก “คนวงนอก” กลายเป็น “คนวงใน” ในฐานะ “รัฐมนตรีช่วยคลัง” เมื่อเข้าไปเห็นปัญหา-เห็นตัวเลขเศรษฐกิจจริงสถานการณ์ขณะนั้นเขายอมรับว่า “หนัก” แต่ไม่เหนือการคาดการณ์

“ก็หนัก แต่คนที่หนักกว่าผมคือคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการการคลัง ผมเคยมีประสบการณ์อยู่แบงก์ชาติและไอเอ็มเอฟมาก่อน ผมก็ได้รู้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นหลายประเทศในโลก ก็ดูออกว่า ยังไม่สาหัสเกินไป"

และก็เป็นอย่างที่ผมคิด เศรษฐกิจไทยโครงสร้างไม่เหมือนกับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย พอมีวิกฤตค่าเงิน เงินบาทลดค่า คนเดือดร้อนนอกจากธุรกิจที่มีหนี้มีสินแล้ว ประชาชนก็เดือดร้อน เพราะต้องอิมพอร์ตสินค้าที่แพงขึ้น ก็เกิดวิกฤตการเมือง

ประธานาธิบดีซูฮาโตเป็นผู้นำอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 1965 จนถึงปี 1998 ก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนเดือดร้อน ออกมาประท้วง จนกระทั่งต้องลาออกไป ผู้นำเข้ามาหลายคนต่อเนื่องกันมา การเมืองไม่นิ่ง อินโดนีเซียก็ล้มลุกคลุกคลาน 

ออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

“ของไทยโชคดี คุณชวนท่านยึดหลักว่า ท่านจะต้องไปตามระบอบประชาธิปไตย ก็คือ ถ้าจะมีการตกลงอะไรกันต้องเข้าสภา ไม่มีการตกลงแบบปิดบัง เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ต้องแก้ไขก็ต้องนำเข้าสภา
ผมในฐานะรัฐมนตรีก็ต้องทำหน้าที่ชี้แจงกฎหมายเหล่านี้ในสภา 10 กว่าฉบับที่ต้องแก้ไข บางส่วนก็เป็นไปตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ”

เรื่องของการคลัง คุณธารินทร์เจรจากับไอเอ็มเอฟ ว่า มาตรการตัดรายจ่าย หรือเพิ่มภาษี VAT เป็น 10 % ในช่วงรัฐบาลพล.อ.ชวลิต มันโหดเกินไป ซึ่งไอเอ็มเอฟก็เข้าใจ และยอมให้เราปรับเรื่องนี้

“กลายเป็นว่า เราสามารถที่จะกู้เงินมิยาซาว่ามากระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องรายจ่าย เราสามารถลดภาษี VAT จาก 10 % เหลือ 7 % การคลังปรับตัว มีวินัยในการใช้จ่าย เรายอมที่จะทำกฎหมายเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. การท่าอากาศยาน อสมท.”

“แน่นอนว่า การแปรรูปย่อมตามมาด้วยผลกระทบบางอย่าง เป็นธรรม เอาเปรียบกันหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลชุดต่อมาก็ต้องไปทำหน้าที่ต่อ แต่ตอนนั้น เราทำตามเงื่อนไข”

ผลที่เกิดขึ้นอย่าง หุ้นปตท.ที่อยู่ในมือของรัฐบาลตอนนั้น ตีมูลค่าหุ้นได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่าหุ้น ปตท.ที่อยู่ในมือรัฐบาลมีมูลค่า 600,000 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการเอาหุ้นเข้าตลาด 

หรือหุ้นของการท่าอากาศยาน มูลค่าหุ้นจากเดิม 5,700 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่า 570,500 ล้านบาท ถ้าอยู่ในมือของเรา ในรูปของรัฐวิสาหกิจเดิม ๆ ก็มีมูลค่าไม่กี่หมื่นล้าน 

“เบ็ดเสร็จเรามีมูลค่าเพิ่มจากการเอาเข้าตลาดทั้งปตท.และท่าอากาศยานเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านล้านบาท”

ถ้ามองในสายตาผม เราทำหน้าที่ในการให้เกิดการแปรรูปเนี่ยใช่ แต่หลังจากนั้นมา ท่านบริหารจัดการอย่างไร รัฐบาลชุดต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เวลาที่เอาหุ้นเข้าตลาดแล้ว ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ แล้วบริหารอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง 

แต่การให้เกิดความโปร่งใส จากเดิมที่เป็นทรัพย์สินรัฐบาลอยู่แค่ไม่กี่หมื่นล้าน กลายเป็น 1.5 ล้านล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่รัฐบาลมีเพิ่มขึ้นมามากกว่าหนี้สินที่เสียหายในแง่ของปรส.เสียอีก

“ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้รัฐวิสาหกิจที่เคยถูกมัดมือมัดเท้ากลายเป็นตัวลิ่ม รู้จักคิดอ่านที่จะทำธุรกิจเยอะแยะไปหมด ลงทุนในปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ลงทุนในธุรกิจ แม้แต่ต่างชาติก็สู้ไม่ได้ ปิโตรเคมีในบ้านเรา ถือว่าดีที่สุดในอาเซียน เก่งที่สุดในอาเซียน”

“พิสิฐ” ผู้ที่ต้องรับหน้าสื่อชี้แจงร่าง "กฎหมายแปรรูป" ในสภา บอกว่า แม้เฉพาะหน้าเลยไม่มีส่วนช่วยในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่มีส่วนช่วยในระยะยาว

กฎหมายแปรรูปเราช่วยปลดล็อกให้รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจได้เยี่ยงเอกชน แทนที่จะมัดมือมัดเท้า ต้องเข้าครม. ต้องขออนุมัติ คุณเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น สามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้ แต่ถ้าคุณทำผิด ทุจริตทางแพ่ง คุณก็โดนเล่นทางทางแพ่ง

อย่างปตท.พอเป็นบริษัทมหาชน เข้าตลาด ผู้ถือหุ้นตัดสินใจได้ ก็ต้องเลือกผู้บริหารที่ดี ส่วนเรื่องเอาเปรียบประชาชนหรือไม่ก็ต้องไปจัดการเขาต่อ แต่อย่างน้อยทำให้มีความคิดทางธุรกิจเกิดขึ้น

“กฎหมายแปรรูปทำให้นักลงทุนระหว่างประเทศเห็นว่าเราเอาจริงในเรื่องการเปิดเสรี กับการให้รัฐลดบทบาทลง ให้ธุรกิจมีบทบาทมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ส่งออกไป”

แบงก์พาณิชย์มีกฎหมายเพิ่มทุน ซึ่งประเทศอื่นเวลาเจ๊ง แบงก์เจ๊งทั้งระบบ แต่ของเรารักษาแบงก์ใหญ่ให้ยืนอยู่ได้ เพราะถือว่าแกนหลัก

"ถึงแม้ว่าจะโดนผู้ถือหุ้นอื่น ๆ พวกแบงก์เล็ก แบงก์กลางที่อยากได้ protection จากรัฐบาล แล้วเขาไม่ได้ เขาก็โกรธแค้น ไม่พอใจ ศัตรูก็เกิดขึ้นเยอะแยะ นี่คือตัวอย่างของความกล้าหาญทางการเมืองที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ของคุณธารินทร์"    

เบื้องหลังต่อรองไอเอ็มเอฟ

“พิสิฐ” เล่าเบื้องหลังการต่อรองกับไอเอ็มเอฟ-ในฐานะ "ลูกหนี้" เอาอำนาจอะไรไปต่อรองกับเจ้าหนี้ ว่า ตอนนั้นเป็นสมัยของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต เรารับช่วงมา พล.อ.ชวลิตยอมเขาทุกอย่าง เราก็ขอเจรจาอะไรบางอย่าง เรื่องของภาษี VAT ขอลดจาก 10 % เป็น 7 % เรื่องตัดรายจ่าย ขอยกเลิก ขอกระตุ้นได้ โดยกู้เงินมิยาซาว่า เขายอม 

“เราให้ข้อมูลให้ไอเอ็มเอฟเห็นว่า จากปี 40 ตอนนั้นที่รัฐบาลไปวาดภาพเศรษฐกิจว่ายังดีอยู่ จริง ๆ ไม่ได้ดีอย่างที่รัฐบาลพูด เมื่อเริ่มติดลบแล้ว ไอเอ็มเอฟก็ยอม เพราะเป็นข้อเท็จจริง แต่ในเรื่องของกรณีของการประมูลหนี้ เราไปถูกไอเอ็มเอฟมัดมือว่า ต้องตั้ง ปรส. แล้วในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิตก็ต้องดร.โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) เป็นประธาน” 

“พอเรารับมรดกมาเราก็ต้องทำต่อ อยู่ ๆ จะไปยกเลิก ไม่ได้ หรือการสั่งปิดสถาบันการเงิน เราไปรับช่วงต่อ เราบอกว่าเราจะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะถ้าเราบอกว่าไม่ทำ ปุ๊บ ประเทศไทยผิดเงื่อนไข ไอเอ็มเอฟก็จะประกาศทันที ว่า เราเป็นประเทศแบบเวเนซูเอล่า อาร์เจนตินา การลงทุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้นในช่วงนั้นเราต้องใจแข็ง แล้วก็เจรจา อะไรทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ สุดท้ายก็ดีกับเรา”

ยกตัวอย่างเช่น การประมูลหนี้ ปรส. พวกนายทุนอยากจะมาวิ่งเต้นรัฐบาลเป็นหมื่น ๆ เป็นแสนล้าน จะซื้อในราคาถูก ๆ เรายอมให้ไม่ได้ ถ้าเป็นรัฐบาลที่ใจอ่อน อาจจะได้อะไรใต้โต๊ะเยอะแยะ แต่เราไม่ทำ เราต้องทำตามกติกา 

เราตั้งคุณอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานปรส.สมัยนั้น เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งก็ทำหน้าที่ในการเปิดประมูล เปิดเผยทั่วไป มีทั้งต่างชาติ มีทั้งคนไทยมาประมูล ที่บอกว่าต่างชาติประมูลไปถูก ๆ ซื้อหนี้ไปถูก ๆ ไม่ใช่ คนไทยก็มาประมูลด้วย แถมคนไทยมาประมูลในราคาที่ถูกกว่าต่างชาติอีก ต่างชาติถึงได้ไป

ช่วงนั้นเราต้องเจรจากับไอเอ็มเอฟ แน่นอนว่า คนหลักก็คือ คุณธารินทร์ แต่ว่าจะมีเวทีอื่น ๆ ที่ผมต้องเจรจากับพวกประเทศที่ อย่างอเมริกาหรืออังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งผมต้องไปประชุมกับเขา 

“ผมก็พูดจากับเขาในภาษาที่รู้เรื่องกัน ให้เห็นว่าประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ที่คุณจะมาทำอะไรได้ง่าย ๆ นะ คือ บทบาทที่ผมมีส่วนช่วยในตรงนั้น รู้สึกว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ ก็ได้รู้จักคนระดับรัฐมนตรีคลัง ช่วยคลังของอเมริกา หรือของอังกฤษก็ตาม ซึ่งพวกนี้อย่างน้อยทำให้เราได้แสดงจุดยืนของเรา”

ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชวน 2 ย้ำอีกทีว่าคุณธารินทร์ เป็นหัวเรือในการคุยกับไอเอ็มเอฟ และคุณธารินทร์ก็เคยเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนในสมัยชวน 1 ก็คุ้นเคยกับไอเอ็มเอฟอยู่บ้าง 

“ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเรื่องสำคัญ จากที่รัฐบาลชุดก่อนเขาไม่ไว้ใจ เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีคลังบ่อย ในปี 40 พล.อ.ชวลิต เปลี่ยนรัฐมนตรีคลัง 3 คน และสิ่งที่เคยสัญญาไว้ก็ไม่ทำตามสัญญา เขาก็ keep up”

“เรื่องใหญ่ตอนนั้นก็คือ ความไว้ใจ การยอมรับจากไอเอ็มเอฟ ซึ่งรัฐบาลชวน 2 สูงมาก ทำให้เราขอเจรจาเงื่อนไขที่เหมาะสม ผ่อนปรนและแต่ละเรื่องที่เรา commit เอาก็ทำได้สำเร็จ กฎหมายทุกฉบับที่คุณชวนให้เอาเข้าสภา”

“คุณชวนถูกกล่าวหาว่า ทำงานช้า เพราะว่าท่านต้องการให้ทุกอย่างเดินตามระบบในสภา เข้าวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 กฎหมายแต่ละฉบับที่ผมเข้าไปชี้แจงไม่ต่ำกว่าปี ปีครึ่ง อย่างกฎหมายแปรรูปก็เข้าศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องไปชี้แจง 

ก่อนเข้าสภา ก่อนเข้าครม.ผมก็ต้องไปชี้แจงกับสหภาพแรงงาน ผมก็ต้องเดินไปตัวคนเดียว ไปนั่งอธิบายทุกอย่างให้ฟัง จนกระทั่งเขาพอใจ ถึงได้เดินหน้าต่อได้ แต่ละช็อต ๆ ทำโดยไม่ได้รีบร้อนจนเกินไป มั่นใจว่ามีความรอบคอบ"

ผ่าตัดสถาบันการเงินครั้งใหญ่

“รัฐบาลพล.อ.ชวลิตกู้เงินจากไอเอ็มเอฟเพื่อมาช่วยเสริมกองทุนสำรอง ฯ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไอเอ็มเอฟตั้งเงื่อนไขการเงินการคลังโหดมาก หนึ่ง ให้เราลดรายจ่าย ตัดรายจ่าย สอง ขึ้นภาษี VAT 10 % สาม ให้คงดอกเบี้ยแพงไว้”

รวมถึงการปิดสถาบันการเงิน ที่ปิดชั่วคราว 58 แห่ง แห่งไหนที่เขา recommend ว่าเปิด ก็ต้องเปิด แห่งไหนปิดก็ต้องปิด เพราะไอเอ็มเอฟเอาประสบการณ์ที่เราเจอเมื่อต้นปี ในช่วงพล.อ.ชวลิต มาใช้ว่าการเมืองมาแทรกแซงไม่ได้

“ช่วงต้นปี 40 ครึ่งแรกที่มีความไม่นิ่ง เพราะว่าสถาบันการเงินที่ควรจะปิด ปิดไม่ได้ เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแบงก์ชาติ ไม่ยอมให้แบงก์ชาติปิด คนก็สงสัยว่า ทำไมรายนั้นรายนี้ยังอยู่” 

เมื่อรัฐบาลชวน 2 ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 วันที่ 8 ธันวาคม 40 ผลการศึกษาว่าต้องปิดสถาบันการเงินแห่งไหนบ้าง เราต้องปิด 56 แห่งถาวร ปล่อยให้เปิดใหม่ได้แค่ 2 แห่ง ที่เหลือ ที่อยู่ในสภาพที่โคม่าก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง มีแบงก์ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่สุดแล้วก็ต้องปิดในเดือนต่อไป

ถือว่าเป็นช่วงที่เราต้องผ่าตัดระบบสถาบันการเงินครั้งใหญ่ ถือเป็นการปฏิรูปสถาบันการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งตลอดช่วง 27 ปีมานี้ เราจะไม่เคยได้ยินข่าวเรื่องแบงก์จะล้ม

“คุณธารินทร์ต้องรับบทหนัก ถูกกดดันจากคนที่เสียหาย เสียประโยชน์ จากผู้ถือหุ้น จากเจ้าของแบงก์ ซึ่งต้องถือว่าอดทนมาก มีต้นทุนทางการเมืองสูงมาก”

จริงอยู่เรามีความเสียหายจากสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดไป หนี้สินคือเงินฝากประชาชน ซึ่งพล.อ.ชวลิตรับประกันคืนเขาทั้งหมด เพียงแต่ว่า คืนช้า คืนเร็ว อีกเรื่องหนึ่ง 

แต่ทรัพย์สินเราได้มาเป็นทรัพย์สินเน่าแล้ว เพราะบริษัทเงินทุนปล่อยกู้แบบไม่ระมัดระวัง เป็นหนี้ที่สะสมมาช้านาน เช่น หนี้บีบีซี หนี้ที่ราเกซทำไว้ ที่มาเอาไปใช้ในการปั่นหุ้น หรือหนี้ของพวกเศรษฐีที่ดินที่ไปปันที่ดินเป็นหนี้เน่าเยอะ 

พอเกิดวิกฤต หนี้เน่าเหล่านี้รัฐบาลก็ต้องโอนเข้าไป เพราะเราปิดบริษัทเงินทุน ปิดแบงก์ และเราก็ถูกไอเอ็มเอฟบังคับว่า ต้องตั้ง องค์การเพื่อกรปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) เพื่อขายหนี้พวกนี้ ประมูลออกไป 

“พวกนายทุนที่เป็นลูกหนี้ พยายามวิ่งเต้นขอซื้อหนี้กับรัฐบาล ซึ่งคุณธารินทร์ก็ใจแข็งที่จะต้องทำตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เราไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับเขาได้ แน่นอนเขาอยากซื้อในราคาถูกจากเดิมเคยกู้มา 100 บาท มาขอซื้อราคา 20 บาท”

ภาคเกษตร-ส่งออกได้รับอานิสงส์

เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เราโชคดีคือ พอค่าเงินบาทลดค่า ถึงแม้ว่า นักลงทุน หรือผู้กู้เงินจะเสียหาย แต่เศรษฐกิจภาคการเกษตรและภาคส่งออกได้รับประโยชน์ 

จากเดิมเคยส่งออก 1 ดอลลาร์ได้เงินมา 28 บาท หลังจากค่าเงินบาทลอยตัวและอยู่ตัวแล้ว ได้เงินบาทมา 40 บาทบ้าง 50 บาทบ้าง ก็คุ้ม โรงงานต่าง ๆ ก็อยู่ได้ 

ปี 40 ราคาสินค้าเกษตรพุ่งปรู๊ด พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกรีบไปซื้อสินค้าเกษตรที่จะส่งออกเกือบทุกรายการ เป็นปีที่เกษตรกรได้ประโยชน์ เราจึงมีภาคเกษตรรองรับ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ในประเทศไทยก็จะตกหนักกว่าที่อื่น 

อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ภาคเกษตรเล็กมาก ต้องอิมพอร์ตสินค้าอาหารจากต่างประเทศ เมื่อค่าเงินรูเปียห์ลดค่าเงินอย่างรุนแรง เกิดการขาดแคลนสินค้าอาหาร คนจนจะลำบากมาก เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ แต่เกษตรเราได้รับอานิสงส์

อีกด้านหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมการส่งออก เช่น รถยนต์โตโยตา จากเดิมตั้งโรงงานในเมืองไทยส่งขายในประเทศ ปรากฏว่า เมื่อคนไทยไม่มีเงินจะซื้อ ผู้บริหารโตโยตาก็จะสั่งปิดโรงงาน 

“ปรากฏว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 สั่งซื้อ 1 คัน บริษัทโตโยตาก็ต้องคิดอ่านใหม่ แทนที่จะปิดโรงงานก็เปิด และวางแผนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ เพราะต้นทุนในเมืองไทยถูกกว่ากันเยอะ ค่าเงินเอื้อเลยปรับให้ได้มาตรฐานโลก 

โรงงานจึงส่งไปขายไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย แต่ส่งไปขายตลาดโลก เมืองไทยจึงกลายเป็นแหล่งผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลกที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง แต่กลายเป็นฐานการผลิต ในประเทศยุโรปก็มาประกอบอยู่ในเมืองไทยด้วย"

“ค่าเงินบาทที่ลดไปในช่วงปี 40 ก็ยืดอายุอุตสาหกรรมหลายแห่งหลายด้านที่กำลังจะปิดให้ได้อยู่ต่อ”

ความเจ็บปวดของเถ้าแก่-เจ้าสัว 

“วิกฤตปี 40 งวดนี้ อาจจะเป็นความเจ็บปวดที่สำคัญกับเจ้าของหรือเถ้าแก่จำนวนไม่น้อย แต่เถ้าแก่ที่ปรับตัว ก็ได้ทำงานเอาตัวรอดได้ดีพอสมควร บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ปูน หรือ ซีพี ก็ยอมขายกิจการบางอย่างออกไป และมุ่งโฟกัสกับบางธุรกิจ”

ปูน เมื่อก่อนทำเกือบทุกอย่าง ก็หันมาโฟกัสในเรื่องของปูน เรื่องของกระดาษ ปิโตรเคมีเท่านั้น ซีพีจากเดิมมีธุรกิจหลากหลาย ยอมขายแมคโครให้คนดัตช์ ยอมขายโลตัสให้อังกฤษให้กับเทสโก้ หรือเซ็นทรัลก็ยอมขายบิ๊กซีให้ฝรั่งเศส สุดท้ายก็ซื้อคืน

เรารู้จักเรื่องของการปรับตัว เรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งปกติวิกฤตที่เกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ที่ผมเห็นช่วงที่ทำงานไอเอ็มเอฟมักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ของเราเกิดรอบเดียว แล้วเราก็แก้ไขปัญหา

ผู้มีอำนาจบางคนเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้เหมือน-หนักกว่าวิกฤตปี 40 เขาโฟกัสไปที่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ-นโยบายการเมืองที่ไม่ได้รับการแก้ไข 

ปัจจุบันเป็นปัญหาของโครงสร้างที่ค่อยๆ สะสมมาเรื่อย ๆ หนึ่ง เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ สอง ปัญหาของประชากร แรงงานลดลง การศึกษาที่ไม่สอดคล้องตามที่ตลาดแรงงานต้องการ 

“รัฐบาลไม่ได้มีความคิดอ่านในการลงทุนในเรื่องของอนาคต แต่เอาผลประโยชน์เฉพาะหน้าในเรื่องของการแจกเงิน ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีความคิดแบบนี้ การแก้ปัญหาจึงยาก”

ในเมื่อการเมืองเสพติดกับการบริโภค กับการพยายามจะแจกเงิน โดยไม่ได้หวังผลว่าแล้วคุ้มค่าหรือไม่กับเงินภาษี เราก็จะแก้ปัญหาได้ลำบาก ซึ่งต่างจากตอนนั้น

“ตอนนั้น งบประมาณแต่ละบาทต้องใช้อย่างประหยัด ตอนที่เกิดวิกฤต คุณชวนบินไปอเมริกาไปพบกับคลินตัน ไปบอกเขาว่า ที่จะซื้อเครื่องบิน F15 ขอยกเลิกนะ เขาโอเค เพราะเขารู้ว่าเรามีวิกฤต

แถมไม่ยกเลิกเปล่า คุณชวนยังขอว่า เงินดาวน์ที่ให้ไป ขอคืนด้วยนะ เขาก็เห็นใจ ยอมให้ นี่คือตัวอย่างความพยายามของรัฐบาลในตอนนั้นที่ตั้งใจจะเก็บทุกบาท ทุกสตางค์ให้เป็นประโยชน์ เราไม่เคยบินแบบเหมาลำ” 

จาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง" สู่ "วิกฤตต้มกบ"

ปัญหาโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น-ปัญหาประชากร หรือแม้กระทั่งปัญหาจากนโยบายประชานิยม ต่าง ๆ เขาชี้ว่า เป็นสัญญาณที่อาจจะทำให้เกิดซ้ำรอยวิกฤตปี 2540

เงินที่ลงไป คิดดูว่า 5 แสนล้าน (โครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ทำอย่างกับว่าเรามีทองคำ มีน้ำมันอยู่ ไม่มี เราต้องไปกู้มา การกู้มีภาระที่ต้องจ่ายทั้งต้น ทั้งดอกเบี้ย และในยามที่ดอกเบี้ยแพง หนี้ก็จะบานขึ้นเรื่อย ๆ เราจะมีสภาพคล้ายกับอาร์เจนตินามากขึ้น ๆ ที่รัฐบาลอยู่ได้เพราะว่า ประชานิยม เสพติดการใช้จ่าย 

ในช่วงวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 40 มีสัญญาณการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมาก ภาคอสังหาริมทรัพย์บูมเป็นพุแตก-เกิดฟองสบู่ เขามองว่าสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็น "ระเบิดเวลา" ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 67 “ตรงกันข้าม” หรือ เรียกว่า “วิกฤตต้มกบ”

“วิกฤตตอนนี้ เรียกว่า ต้มกบ กบอยู่ในหม้อที่ร้อนขึ้น ๆ ก็ยังไม่ไปไหน สุดท้ายมันตาย เพราะความร้อนสะสม ไม่เหมือนวิกฤตปี 40 ที่มีพื้นฐานมาจากกู้เงินมาเยอะ สุดท้ายมันแตก เพราะว่าแบงก์ชาติประกาศลอยคัวค่าเงินบาท แต่เมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่”

“ตอนนี้ยังดีที่แบงก์ชาติบริหารเงินทุนสำรองได้ดี ความเชื่อมั่นยังอยู่ เมื่อใดก็ตามที่หนี้รัฐบาลมีมากขึ้น ๆ ขาดดุลมากขึ้น จนกระทั่งปัญหาหนี้มากระทบกับเรื่องของเงินทุนสำรอง เรื่องต่างประเทศ นั่นแหละที่จะทำให้เกิดเป็นเสียงระเบิดขึ้นมา”

“ปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่ของที่จะพลิกแก้ได้ ต้องอาศัยความพยายาม ความตั้งใจ การยอมรับจากมวลชน เรื่องประชากรยังไม่เห็นมีใครในรัฐบาลพูดเรื่องนี้ จะแก้ไขปัญหาแรงงานลดลง จะแก้ปัญหาเรื่องเด็กเกิดน้อยลง จะดูแลสังคมคนวัยชราอย่างไร”

"วิกฤตการเงิน" สู่ "วิกฤตการคลัง" 

เรื่องสถาบันการเงิน แบงก์ชาติได้เรียนรู้และทำได้ดีมากจากนั้นมา เรื่องปฏิรูประบบสถาบันการเงินก็ทำได้ดี วิกฤตสองครั้งของโลกที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตโควิด เราจะหนักกว่านี้ 

“เรื่องของการเงินเราทำได้ดี แต่ที่ไม่ดีตอนนี้ คือ เรื่องการคลัง เราคิดอ่านแต่จะสร้างหนี้ แล้วเราจะไปซ้ำรอยประเทศอื่นที่เขาทำอย่างนี้มาแล้ว คือ มีความเขย่งกันระหว่างการเงินกับการคลัง การเงินระวังตัวอย่างมากมาย แต่การคลังกลับปล่อยปละละเลยและทำความเสียหายอย่างมากมายอย่างในอเมริกาตอนนี้”

“ตอนนั้นธุรกิจเขาทุ่มเยอะ เขานึกว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ 5 ลงทุนขยายงานอย่างมากมาย ก่อหนี้ก่อสิน วันดีคืนดีมันล่มสลาย ความฝันของเขาพังลงมาอย่างรวดเร็ว”

“แต่สภาพตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของฟองสบู่ สภาพตอนนี้เป็นเรื่องของต้มกบ คือ ปัญหาโครงสร้างไม่มีใครหยิบยกมาแก้ไข ได้แต่ที่จะตั้งอีสเทิร์นซีบอร์ด ตั้งอีอีซี ล้วนแต่เป็นเรื่องของการปั่นราคาที่ดินมากกว่ามาทำอะไรที่จริงจัง 

“ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องบริโภค บริโภคตอนนี้เยอะมาก อัตราเพิ่มสูงมาก แต่ที่เราขาดคือ เรื่องการลงทุน การส่งออก การลงทุนภาครัฐ เราบริหารเศรษฐกิจผิดทิศผิดทาง”

ตอนนี้ไม่เห็นมีใครดูเรื่องการคลังเลย รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมีใครพูดเรื่องการขาดดุล ผมท้าได้เลยไม่มีใครคนใดในรัฐบาลที่บอกได้ว่า ตอนนี้ขาดดุลได้เท่าไหร่ที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม 

คนคุมนโยบายการคลังไม่ทำเรื่องการคลัง เมื่อไม่ทำเรื่องการคลัง ทำตามใจคนอื่นที่อยากให้ทำ ระบบเราก็จะไม่มีวินัย การไม่มีวินัย คือ ปัญหาใหญ่ของประเทศที่ล้มเหลวในโลก 

“นี่คือสูตรของการนำไปสู่ปัญหาที่จะตามมา คือ ฐานะการคลังเราเป็นปัญหาที่จะต้องลุกลามต่อไป และนำไปสู่วิกฤต ถ้ายังคงเป็นอย่างนี้ วิกฤตการคลัง” 

เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อคนต้องจ่ายแน่นอน คนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคนจะต้องได้รับเงินนี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องใช้เงินเท่าไหร่

"ถ้ายังขืนเสพติดเงิน แบบดิจิทัลวอลเล็ต อีก 5 แสนล้าน ต่อไปพรรคการเมืองก็เกทับมากกว่านี้ ระบบการคลังก็ต้องระเบิดแน่นอน เป็นตัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ภาคการเงิน”

สุดท้าย "พิสิฐ" ให้นิยามคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ในอนาคต ว่า “วิกฤตการคลัง” และจะ “แก้ยากกว่า” วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 

วิกฤตการเงิน เราแค่ปิดสถาบันการเงิน คนเดือดร้อนคือ เจ้าของ ผู้ถือหุ้นไม่กี่คน แต่ถ้าวิกฤตการคลัง มันหมายถึงภาระภาษีที่คนทั้งประเทศต้องมาจ่าย เราต้องขึ้นภาษีอีกเท่าไหร่ ตัดรายจ่าย คนจำนวนไม่น้อยจะเสียโอกาส

“ประชาชนต้องเสียภาษี VAT แพงขึ้นแน่นอน จะไม่ใช่ 7 % โรงเรียนต่าง ๆ ก็จะได้รับงบน้อยลง มหาวิทยาลัยก็ต้องถูกตัดงบ ต้องเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้น รายจ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็จะจ่ายได้น้อยลง ขณะที่เงิน 1.75 แสนล้านกลับมาตั้งให้กับเรื่องของประชานิยมก็คือเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต หนี้ก็จะมากินมากขึ้น ๆ”