“พิมพ์ภัทรา” ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มรายได้ 1.3 พันล้าน

02 ก.ค. 2567 | 00:57 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 00:57 น.

“พิมพ์ภัทรา” ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มรายได้ 1.3 พันล้าน สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุล

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 นครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรม สมอ. สัญจร ว่า ได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs กลุ่มคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 500 คน 

และให้ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชน (มผช.) จำนวน 9 ราย ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 9 ราย และใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย และตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
 

โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพเสริมผนวกกับวิชาการอุตสาหกรรมให้เข้ากับวิถีชุมชน ให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ 

“พิมพ์ภัทรา” ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มรายได้ 1.3 พันล้าน

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ครั้งนี้มี 3 ประเด็น ประกอบด้วย 

  • การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร 
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าชายแดนและผลิตภัณฑ์ไหม 
  • การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังโคราช ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตามโมเดล BCG ผ่านกิจกรรมนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้โรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ 

ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสำปะหลังโคราชสู่ความยั่งยืนด้วย BCG และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างประโยชน์กับประชาชนและสนับสนุนการผลักดันอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular) ที่มีศักยภาพให้ต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการใช้นวัตกรรมนี้คาดว่าจะเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณหัวมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานได้ถึง 10% และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันอโวคาโด และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของบริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูปเป้าหมาย ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการได้รับความรู้การบริหารธุรกิจแบบครบวงจร เปิดมุมมองการตลาด ต่อยอดนวัตกรรม โดยผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs และ HACCP ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50%