KEY
POINTS
ปัจจุบันภาครัฐเร่งขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ทั้ง 2 ระยะ หากโครงการแล้วเสร็จจะเป็นระบบขนส่งทางรางที่สำคัญในประเทศ ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อไปยังประเทศจีน-สปป.ลาว ได้สะดวกมากขึ้น
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและปรับแบบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่
ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
ในปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย.นี้ และสามารถเปิดประมูลพร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะพิจารณาที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับสำนักงบประมาณด้วย อย่างไรก็ตามได้ตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จให้ทันตามกำหนดและสามารถใช้ประโยชน์ให้ได้ไวที่สุด
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ,ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท
ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
ตามแผนโครงการฯ จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) จำนวน 10 สัญญา แบ่งออกเป็น งานโยธา 9 สัญญา ,งานติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
นอกจากนี้การก่อสร้างงานโยธาในโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ได้มีการปรับแบบเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กม. เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่
ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี 5.สถานีหนองคาย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร (กม.)
ภาพรวมการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังติดปัญหาทั้งหมด 2 สัญญา จาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง ที่ติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น
อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เช่นเดียวกับการรถไฟฯ ที่ได้ดำเนินการปรับความเร็วการเดินรถ 1 สถานี คือ สถานีดอนเมือง-สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยจากเดิมโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปรับลดลงเหลือความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า 2.สัญญา 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ปัจจุบันในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา ล่าสุดได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปยังองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เรียบร้อยแล้ว
เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอยู่บนเส้นทางรถไฟเดิม ประกอบกับที่ผ่านมา ได้ขาดการติดต่อจากยูเนสโกมาตั้งแต่ปี 2563 ขณะนี้ได้ดำเนินการตามกระบวนการของยูเนสโกแล้ว
"โดยยืนยันว่าจะต้องมีสถานีรถไฟอยุธยา ส่วนการยืนราคาของบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในเครือบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ที่ชนะการประมูลนั้น ไม่มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากเอกชนได้มีการยืนราคาเดือนต่อเดือน คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายในปีนี้”